ความสุข วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือความรู้สึกหรืออารมณ์ประเภทหนึ่ง ความสุขมีหลายระดับ ตั้งแต่ความสบายใจเล็กน้อยหรือความพอใจจนถึงความเพลิดเพลินหรือเต็มไปด้วยความสนุก แนวความคิดทางปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา ชีววิทยาถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายความหมายของความสุขรวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ในแนวความคิดทางปรัชญาและศาสนามักจะกำหนดนิยามของความสุขในความหมายของการดำรงชีวิตที่ดี หรือชีวิตที่มีความเจริญ โดยไม่จำกัดความหมายของความสุขว่าเป็นเพียงอารมณ์ประเภทหนึ่ง
ความสุขเป็นหัวข้อที่พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญมาก เพราะความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาเพื่อให้ได้พบกับเสรีภาพและการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง การสอนของศาสนาพุทธใช้หลักธรรมที่เรียกกันว่ามรรค หรือหนทาง 8 ประการในการดับทุกข์เพื่อนิพพาน ความสุขสูงสุดสามารถมีได้ด้วยการเอาชนะตัณหาทุกรูปแบบ ส่วนการมีความสุขจากทรัพย์สินหรือความมั่นคงในชีวิตและการมีมิตรภาพที่ก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าสำหรับบุคคลทั่วไป “มรรค” หรือหนทางถึงความดับทุกข์ นับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) ดังนี้
1. สัมมาทิฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง เห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางดีงาม
3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะ พยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ ทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน อันนี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นความสุขที่แท้
มนุษย์ หรือ คน สามารถนิยามได้ทั้งในทางชีววิทยา, ทางสังคม และทางเจตภาพ (spirituality) ในด้านพฤติกรรม ความเป็นมนุษย์นิยามด้วยการใช้ภาษา; การจัดโครงสร้างสังคมอันซับซ้อนในรูปของกลุ่ม, ชาติ, รัฐ และสถาบัน; และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ความแตกต่างทางพฤติกรรมเหล่านี้ของมนุษย์ก่อให้เกิดวัฒนธรรมนับหมื่นนับพันวัฒนธรรม ซึ่งยึดถือความเชื่อ, ตำนาน, พิธีกรรม, คุณค่าและ ปทัสฐานทางสังคมต่างๆ กันไป ความตระหนักถึงตนเอง, ความใคร่รู้ และการใคร่ครวญของมนุษย์ ตลอดจนความโดดเด่นกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ก่อให้เกิดความพยายามที่จะอธิบายธรรมชาติและพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ทั้งในทางวัตถุธรรมและในทางนามธรรม คำอธิบายในทางนามธรรมนั้นจะเน้นมิติทางเจตภาพของชีวิต และอาจรวมถึงความเชื่อในพระเป็นเจ้า, เทพเจ้า หรือสิ่งเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ตลอดจนแนวคิดเรื่องวิญญาณ ความพยายามที่จะสะท้อนภาพตัวเองของมนุษย์นั้นเป็นพื้นฐานของความคิดทางด้านปรัชญา และมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคแรกๆ
การสร้างความสุขเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เป็นโจทย์ใหญ่มากในสังคมยุคปัจจุบัน เพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่เน้นผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า เห็นแก่ตัว การมองสิ่งใดๆที่รู้สึกว่าถูกต้องสำหรับคนเหล่านี้จึงเป็นการกระทำที่มุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเองเท่านั้น ถ้ามนุษย์สามารถเลือกที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขามักจะเลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด และถึงแม้การกระทำนั้นจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็เพราะเขาได้พิจารณา หรือคาดหวังแล้วว่า เขาจะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว แต่ข้อหักล้างมันอยู่ที่ว่า ความพึงพอใจที่เป็นผลจากการกระทำ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ยกตัวอย่างเช่น
ครั้งหนึ่งขณะที่ อับราฮัม ลินคอล์น นั่งรถข้ามสะพานไป เขาเห็นแม่หมูตัวหนึ่งส่งเสียงร้องอันดังด้วยความตระหนกอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อเขามองไปก็เห็นลูกหมูตัวหนึ่งตกลงไปในน้ำและอาจจมน้ำตาย เขาตะโกนบอกคนขับรถให้หยุดรถ แล้วรีบวิ่งไปที่ริมตลิ่ง จัดการช่วยลูกหมูขึ้นจากน้ำแล้ววางไว้บนฝั่ง หลังจากนั้นเขาก็กลับขึ้นรถ คนที่ร่วมทางมาด้วยคนหนึ่งถามเขาว่า แล้วไหนล่ะความเห็นแก่ตัวในฉากนี้ ลินคอล์นตอบว่า นั่นล่ะแก่นแท้ของความเห็นแก่ตัว เพราะถ้าฉันผ่านไปเฉยๆโดยไม่ได้ช่วยลูกหมูตัวนั้น ฉันอาจกังวลใจและหาความสงบไม่ได้ทั้งวันหากฉันคิดถึงลูกหมูตัวนั้นที่ฉันไม่ได้ช่วยมันไว้ เห็นไหม ฉันช่วยลูกหมูก็เพื่อทำให้ฉันรู้สึกสบายใจขึ้น"
หากมนุษย์ยังมีความเป็นตัวตนอยู่อย่างนี้ เราจะนำความสุขในความหมายของพุทธศาสนานำมาทำให้มนุษย์ที่มีพื้นฐานความเห็นแก่ตัวมีความสุขได้อย่างไร เราจะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของมนุษย์ได้อย่างไร มีคำตอบอยู่ในประเทศเล็กในหุบเขาหิมาลัยที่มักถูกจัดอันดับเป็นประเทศ “ยากจน” ประเทศหนึ่งในโลก ได้มีแนวคิดที่เรียกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness, GNH)อันมีพระราชาธิบดีองค์ที่สี่ของประเทศภูฐาน ทรงเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด พระองค์ทรงกล่าวว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” เป็นการมองการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Gross Domestic Product, GDP) แต่เน้นมุมมองเรื่อง “ความสุข” ที่แท้จริงของสังคมเป็นหลัก ปัจจุบันแนวคิด GNH กำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เป็นเกณฑ์นั้นมักนำมาซึ่งผลกระทบในทางลบมากขึ้นทุกที ความคิด GNH นั้นคำนึงถึงความเป็นองค์รวมด้วยการพิจารณามิติทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมิติอื่นๆได้แก่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการปกครองที่ดี โดยมีหลัก 4 ประการดังนี้
1. การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค ตามแนว "ทางสายกลาง" ไม่เร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางนิเวศและสังคมในระยะสั้น หากจัดสมดุลระหว่างตัวเลข พฤติกรรมการบริโภคและคุณค่าด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค บนพื้นฐานของสังคมที่เคารพประชาชนและวัฒนธรรมของตนเอง
2.การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ให้หลักประกันที่ว่า การพัฒนาใดๆ ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน หรือประเพณีท้องถิ่น หรือจากปัจเจกบุคคล จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติอาจหมดลงได้ในวันหนึ่ง เราทุกคนจำเป็นจะต้องบำรุงเลี้ยงและปกป้องโลกในฐานะ “บ้านของเราทุกคน”
3.การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ ความอ่อนโยน ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรู้จักให้อภัย การรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นต้น กำลังถูกกัดกร่อนจากโลภจริตหรือความโลภ อันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำโลกในขณะนี้ อันที่จริงแล้วคุณค่ามนุษย์ดังกล่าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สังคมมีความหมาย มีความเอื้ออาทรต่อกัน และทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
4.การส่งเสริมการปกครองที่ดี หรือ "ธรรมาภิบาล" (Good Governance) เป็นเงื่อนไขสำคัญเช่นกันในการนำพาประชาชนไปสู่ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ประเทศทั้งหลายในโลกจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม กำลังถูกแรงกดดันทั้งจากประชาชนท้องถิ่นและชุมชนระหว่างประเทศ ให้เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยหรือ "ธรรมาภิบาล" (การปกครองที่ดี)
อย่างไรก็ดีประเทศภูฐานก็กำลังประสบกับความท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ และอิทธิพลของสื่อทีวี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมเลียนแบบการแต่งกายหันมาสนใจเสื้อผ้าทันสมัย เช่น การนุ่งกางเกงยีนส์แทนชุดแต่งกายประจำชาติ และเมืองทิมภู ก็เริ่มมีทิศทางการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้มีการอพยพเข้ามาของคนจากภาคชนบทสู่เมืองหลวงมากขึ้นเรื่อยๆ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นตามมาเหมือนเมืองใหญ่โดยทั่วๆไป แต่เป็นที่น่ายินดีว่าแนวคิดเรื่อง GDP ได้ก่อให้เกิดการทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศและสังคมในหลายๆประเทศ รวมทั้งการใช้ชีวิตของมนุษย์ การนำเสนอวิธีคิดอย่างนี้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจในแนวคิด GDP มีพื้นฐานของของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแบบที่มนุษย์ไม่ใช่ผู้ควบคุมธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมแบบเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่ใช่การแข่งขัน และเป็นการสร้างความสุขเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ อย่างแท้จริง
อ้างอิง :