วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวทางการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้รูปแบบกลวิธีการสื่อสาร


นวทางการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้รูปแบบกลวิธีการสื่อสาร
The development of English for speaking communicative competency with communicative strategies

ทวีศักดิ์ ชูมา

picture from: http://www.ehow.com/info_8359400_learning-strategies-middle-school-english.html


บทนำ



สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมฐานความรู้ (knowledge-based society) บุคคลในสังคมต้องติดต่อพบปะเพื่อดำเนินการกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการศึกษาหาข้อมูลต่างๆ และสร้างองค์ความรู้ ถ่ายทอดวิทยาการแก่กัน รวมถึงสื่อสารความรู้สึกนึกคิดให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น การศึกษาในศตวรรษที่ 21 การศึกษาจึงเกี่ยวข้องกับการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่ดี พูดได้ถูกต้อง อ่านได้คล่องแคล่ว และเขียนได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการใช้ดิจิทัลคอมพิวเตอร์  (digital) เป็นเครื่องมือเพื่อการสื่อสารเชื่อมโยงการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะได้อย่างกว้างขวางและลุ่มลึกในทุกมิติ (Berning Trilling and Charles Fadel 2009:52)
 ในประเทศที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร และยังมีการศึกษาพบว่าการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักวิทยาศาสตร์ที่มีความร่วมมือทางการวิจัยและเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ ส่งผลต่อการการเผยแพร่ทางนวัตกรรมและการเพิ่มขึ้นของบทความวิชาการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ
กลวิธีเพื่อการสื่อสารเป็นกระบวนหนึ่งที่ใช้สอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สอง โดยใช้การสร้างรูปแบบการฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งใช้เทคนิคกลวิธีพื้นฐานการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวสามารถนำไปสู่การพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษของผู้เรียน
บทความนี้มุ่งเสนอแนวคิดให้กับบุคลากรทางการศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้กลวิธีเพื่อการสื่อสาร กล่าวถึง ความหมายและองค์ประกอบของทักษะการพูดภาษาอังกฤษ  องค์ประกอบของกลวิธีการสื่อสารภาษาอังกฤษ และการประเมินผลการใช้กลวิธีเพื่อการสื่อสาร  เพื่อการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายของทักษะการพูดภาษาอังกฤษ
การพูดภาษาอังกฤษมิใช่เพียงความสามารถทางการออกเสียงให้ถูกต้องตามโครงสร้างทางไวยากรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารถ้อยคำไปยังผู้รับสารให้รับรู้ความรู้สึกนึกคิด สาระข่าวสาร ใช้น้ำเสียงหรือกิริยาอาการ ผู้พูดต้องมีทักษะความรู้ด้านการออกเสียง คำศัพท์
กฎการใช้ทางไวยากรณ์ เข้าใจวัฒนธรรมทางภาษา และผู้พูดต้องมีทักษะการใช้กลวิธีการพูดเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
William Litterwood (1995) ได้อธิบายว่า การพูดหมายถึงการแลกเปลี่ยนข่าวสารต่างๆ ระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีผู้พูดและผู้ฟัง ผู้พูดจำเป็นต้องพูดให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ ดังนั้นจึงต้องพูดให้ถูกต้องตามหลักภาษา และใช้คำพูดที่เหมาะสมรวมถึงพูดได้ถูกต้องตามสถานการณ์ วาเล็ต (Balette 1977: 120) ได้ให้ความหมายของการพูดเพื่อการสื่อสารว่ามิได้เป็นเพียงการออกเสียงคำ และการออกเสียงสูงต่ำในประโยคเท่านั้น แต่เป็นการพูดตามหน้าที่ของภาษา กล่าวคือเป็นการทำให้ผู้อื่นเข้าใจจุดประสงค์ในสิ่งที่ตนพูด และการพูดของผู้ที่มีความสามารถในระดับที่สูงขึ้นไป ยังต้องมีการเลือกใช้สำนวนภาษาที่ถูดต้อง เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของเจ้าของภาษาด้วย เซียร์ลี (Searfe 1978: 85-90) กล่าวว่า หมายถึง การกล่าวคำพูดที่เกิดจากความตั้งใจของผู้พูดและก่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่สถานการณ์ในการสื่อสาร
            กล่าวโดยสรุปการพูดหมายถึงการสนทนาระหว่างบุคคลสองคนขึ้นไป โดยถ่ายทอดความคิด แลกเปลี่ยนข่าวสารโดยใช้ภาษาและท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ต้องมีองค์ประกอบแยกย่อยเช่น  รู้คำศัพท์ที่เหมาะสม ใช้หลักไวยากรณ์และรูปแบบประโยคอย่างถูกต้อง ออกเสียงและเน้นเสียงได้ถูก และเข้าใจวัฒนธรรมของการพูดหรือวัฒนธรรมทางภาษา


องค์ประกอบของทักษะการพูดภาษาอังกฤษ
คเนล และสเวน (1980) Savignon (1982) ได้แยกองค์ประกอบของการพูดที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องประกอบไปด้วย  องค์ประกอบ 4 อย่างนี้ คือ
1. ต้องมีความรู้ด้านไวยากรณ์หรือโครงสร้าง (grammatical competence) หมายถึงความรู้ด้านภาษา ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ โครงสร้างของคำ ประโยค ตลอดจนการสะกดและการออกเสียง
            2. ต้องมีความรู้ด้านสังคม (sociolinguistic competence) หมายถึงการใช้คำ และโครงสร้างประโยคได้เหมาะสมตามบริบทของสังคม เช่น การขอโทษ การขอบคุณ การถามทิศทางและข้อมูลต่าง ๆ และการใช้ประโยคคำสั่ง เป็นต้น
             3. ต้องมีความรู้ในการใช้โครงสร้างภาษาเพื่อสื่อความหมายด้านการพูด และเขียน (discourse competence) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมระหว่างโครงสร้างภาษา (grammatical form) กับความหมาย (meaning) ในการพูดและเขียนตามรูปแบบ และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
           4. ต้องมีความรู้ในการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย (strategic competence) หมายถึงการใช้เทคนิคเพื่อให้การติดต่อสื่อสารประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการสื่อสารด้านการพูด เช่น การใช้ภาษาท่าทาง (body language) การขยายความโดยใช้คำศัพท์อื่นแทนคำที่ผู้พูดนึกไม่ออก เป็นต้น
ดังนั้นองค์ประกอบของทักษะการพูดจะประกอบไปด้วยองค์ความรู้ดังแผนภาพ
           
ทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่จะเกิดขึ้นจากความพยายามที่ชาญฉลาด ทั้งนี้ผู้สอนจะต้องเข้าใจธรรมชาติและเข้าใจกลวิธีที่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระหว่างที่สื่อสารภาษาเป้าหมายได้

ความหมายของกลวิธีการสื่อสาร
ผู้พูดสามารถใช้ภาษาพูดติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าผู้พูดมีความสามารถด้านกลวิธีทางการสื่อสาร (Communication strategies) แบบใช้คำพูดและไม่ใช้คำพูดมาชดเชยความล้มเหลวในการสื่อสารซึ่งมีผลมาจากตัวแปรต่างๆในการใช้ภาษา เช่น ความขาดทักษะด้านภาษา ความไม่แน่ใจของผู้พูด เช่น การไม่รู้คำศัพท์ที่จะใช้เรียก ขาดความรู้ไวยากรณ์ เป็นต้น ความหมายของกลวิธีเพื่อการสื่อสารสามารถจำแนกออกเป็นสองแนวคิดหลังที่สำคัญ คือ
แนวคิดแรก เน้นการแก้ไขปัญหาในการสื่อสารเป็นหลัก หมายถึงการที่ผู้ใช้เทคนิควิธีการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหา หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในขณะที่พูดในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความยากลำบากในการพูดภาษาเป้าหมาย เนื่องจากขาดความรู้ทางด้านคำศัพท์ โครงสร้างไวยากรณ์ หรือวัฒนธรรมของผู้พูดเอง จึงจำเป็นต้องใช้กลวิธีทางการสื่อสารเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างฉับพลัน นอกจากนั้นนักภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยาได้พูดถึง กลวิธีเพื่อการสื่อสารเป็นการวางแผนของผู้พูดเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่รู้คำศัพท์ รู้โครงสร้างไวยากรณ์ และวัฒนธรรมทางภาษา โดยผู้พูดอาจทำไปโดยไม่รู้สึกตัว ปัญหาของการสื่อสารอาจจะเป็นปัญหาของผู้พูดฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นระหว่างการสนทนากับคู่สนทนา
แนวคิดที่สอง เน้นการสื่อสารในสถานการณ์ทั่วไป โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขอุปสรรคทางการศึกษาหรือไม่ กลวิธีเพื่อการสื่อสารในแนวคิดนี้ หมายถึงการที่ผู้พูดพยายามใช้เทคนิค หรือวิธีการต่างในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการต่อรองความหมาย ให้เข้าใจตรงกัน
          ในปัจจุบันนี้นักศึกษาและนักวิจัยทางการการเรียนการสอนภาษาที่สองกำลังให้ความสนใจกับกระบวนการเรียน (Learning process) มากกว่าผลของการเรียน (Learning product) พฤติกรรมของผู้เรียนมากกว่าพฤติกรรมของครู ความสามารถในการาสื่อสารมากกว่าความสามารถทางภาษา (Ellis 1882:73-81) 

ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้กลวิธีการสื่อสาร
            ทางด้านภาษาศาสตร์และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษพบว่ามีหลายปัจจัยที่มีผลต่อกลวิธีการสื่อสารของผู้เรียนภาษา เช่น กลวิธีการเรียน แบบการคิด แรงจูงใจ กิจกรรม ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสื่อสารความตระหนักถึงความตากต่างของภาษาแม่ (Mother tongue) และภาษาที่สอง หรือการสอนกลวิธีทางการสื่อสารแต่ปัจจัยที่มีผลต่อผู้เรียนอย่างยิ่งได้แก่ 
1.ความสามารถทางภาษา (Language proficiency) ในการใช้กลวิธีทางการสื่อสารของผู้เรียน ความสามารถทางภาษาของผู้เรียนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อประเภทความถี่และประสิทธิภาพขอการใช้กลวิธีทางการสื่อสาร ดังนี้
            1.1 ความสามารถของผู้เรียนมีผลต่อความถี่ของการใช้กลวิธีในการสื่อสาร กล่าวคือผู้ที่มีความสามารถทางภาษาสูงใช้กลวิธีทางการสื่อสารในความถี่ที่น้อย ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่มีความสามารถทางการศึกษาต่ำ เนื่องจากกลวิธีทางการสื่อสารนั้นใช้เพื่อชดเชยความรู้ด้านคำศัพท์และไวยากรณ์ในภาษาเป้าหมายที่ไม่เพียงพอ (Ellen Bialysotok and M. frohlich 1980:3-30)
            1.2 ความสามารถของผู้เรียนมีผลต่อประเภทของการใช้กลวิธีในการสื่อสาร กล่าวคือผู้ที่มีความสามารถทางภาษาสูงใช้กลวิธีทางการสื่อสารในการสื่อสารที่มีพื้นฐานภาษามากกว่าผู้ที่มีความสามารถทางภาษาต่ำ ผู้ที่มีความสามารถทางภาษาสูงมักสามารถควบคุมความรู้ภาษาเป้าหมายของตนเองได้ (Si-Qing:1990 170-171)
            1.3 ความสามารถทางภาษาของผู้เรียนมีผลต่อประสิทธิภาพของการใช้กลวิธีในการสื่อสารกล่าวคือ ผู้ที่มีความสามารถทางภาษาสูงใช้กลวิธีที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสารภาษามากกว่าผู้ที่มีความสามารถทางภาษาต่ำ ผู้ที่มีความสามารถด้านการใช้ภาษา มักมีประสิทธิภาพในการสื่อสารความหมายของคำศัพท์ที่เหมาะสมและชัดเจน ตรงไปตรงมา (Si- Qing: 170-171)
            2. ความรู้ทั่วไป (World knowledge)
            ความรู้ทั่วไปมีผลต่อการใช้กลวิธีในการสื่อสาร กล่าวคือ ผู้เรียนที่มีความรู้ทั่วไปดีจะสามารถนำความรู้นั้นมาใช้กับการแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุจากการขาดความรู้ทางภาษาได้ (Yule and Tarone 1990)
            3. ภาระงาน (Tasks)
            ความแตกต่างของภาระงานที่กำหนดให้ผู้เรียนทำอาจมีอิทธิพลต่อการเลือกใช้กลวิธีการสื่อสารชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น ภาระงานคือ แผนงานที่สร้างขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสื่อสารภาษาใหม่ๆ ทั้งนี้ภาระงานเพื่อการสื่อสารจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อการสื่อสาร ต้องเน้นความหมายทางไวยากรณ์ ต้องมีช่องว่างทางการสื่อสาร หรือมีปัญหาที่ทำให้ผู้เรียนพยายามแก้ไข ต้องเปิดให้มีการเจรจาหรือแลกเปลี่ยนการสื่อสารจริง (Bialy 1990:50-52)

ประเภทของกลวิธีการสื่อสาร
กลวิธีทางการสื่อสารมีหลายประเภทที่ผู้พูดได้พยายามใช้ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเข้าใจความหมายที่ตรงกันในการสนทนา เป็นการพูดในสถานการณ์ต่างๆ หรือแก้ไขอุปสรรคทางภาษาต่างๆ มีผู้วิจัยพยายามสร้างกลวิธีทางการสื่อสารต่างมากมายสามารถสรุปโดยรวมแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
ประเภทแรกกลวิธีทำให้สำเร็จ (Achievement Strategy) คือกลวิธีที่ผู้พูดใช้วิธีการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่พูด เพื่อให้การสื่อสารยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ติดขัด เช่น กลวิธีใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน กลวิธีอธิบายความ กลวิธีสร้างคำใหม่ หรือกลวิธีกล่าวซ้ำ
ประเภทที่สองกลวิธีหลีกเลี่ยงหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลวิธีตัดทอน (Avoidance Strategy or Reduction Strategy) เป็นกลวิธีที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในขณะที่พูดในภาษาเป้าหมาย ด้วยการละทิ้งข้อมูล หรือเปลี่ยนเรืองพูดไปพูดในเรื่องที่ตนเองพูดได้หรือมีความชำนาญ

การนำกลวิธีการสื่อสารภาษาอังกฤษไปใช้
กลวิธีการสื่อสารเพื่อการพูดภาษาอังกฤษ หมายถึงวิธีต่างๆ ที่ผู้พูดสามารถนำใช้ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการต่อรอง เป็นการพูดเพื่อสื่อความหมายในสถานการต่างๆ โดยใช้แนวคิดของ Gerard M. William (1987), Martin Bygate (1995), Zoltan Dornyei (1995) Judith E. Liaskin-Gasparro (1996), Claus Faerch และ Gabriele Kasper (1984) กลวิธีทางการสื่อสารที่ผู้พูดใช้จะครอบคลุมทั้ง 12 กลวิธีที่สำคัญ ดังนี้
            1. การพูดภาษาอังกฤษภาษาแม่ปนกับภาษาเป้าหมาย (First Language-Switch Strategy) เป็นกลวิธีที่ผู้พูดใช้ภาษาแม่ปนกับภาษาเป้าหมายโดยที่ผู้พูดใช้คำศัพท์ภาษามาทับศัพท์ภาษาเป้าหมายเป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น ใช้คำว่า “Muay Thai” แทนคำว่า “Thai boxing”
            2. กลวิธีการพูดแบบแปลคำต่อคำ (Literal Translation Strategy) เป็นวิธีที่ผู้พูดใช้วิธีเรียงคำหรือกลุ่มคำ ตามลักษณะประโยคของภาษาแม่ โดยใช้วิธีแปลคำต่อคำ หรือใช้โครงสร้างทางไวยากรณ์เหมือนภาษาแม่ เนื่องจากผู้พูดขาดความชำนาญ หรือมีความรู้ในภาษาเป้าหมายที่จำกัด เช่น ใช้คำว่า place du feu ในภาษาฝรั่งเศส และเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า fireplace
            3. กลวิธีสร้างคำใหม่ (Word Coinage Strategy) เป็นกลวิธีที่ผู้พูคิดคำศัพท์ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากไม่ทราบคำศัพท์ที่ถูกต้องของภาษาเป้าหมาย จึงสร้างคำขึ้นมาเองโดยหวังว่าผู้ฟังจะเข้าจะเข้าใจภาษาที่ผู้พูดสร้างขึ้น เช่นใช้คำว่า “airball” แทนคำว่า “balloon”
4. กลวิธีที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกือบตรงกัน (Approximation Strategy) เป็นกลวิธีที่ผู้พูดใช้คำหรือกลุ่มคำที่ใกล้เคียงกับภาษาเป้าหมาย หรือเป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (Synonym) หรือใช้คำที่บอกหมวดหมู่ (super ordinate) เช่น “ship” แทน “sailboat”
            5. กลวิธีการอธิบายความ (Circumlocution strategy) เป็นกลวิธีที่ผู้พูดอธิบายหรือบรรยายรายละเอียดโดยใช้คำหลายคำ หรือวลีหลายวลีเพื่อสื่อความแทนคำพูดด้วยการใช้คำศัพท์เพียงคำเดียว เนื่องจากผู้พูดไม่ทราบคำศัพท์ภาษาเป้าหมาย เช่น “it has waste basket. It has a basket who probably serves for buying things in the market” แทนคำว่า “a shopping basket”
            6. กลวิธีการพูดพึมพำเพื่อขอเวลาในการคิด (Surfing Strategy) กลวิธีที่ผู้พูดใช้เสียง หรือคำที่มีความหมาย หรือปราศจากความหมายเป็นช่วงๆ เพื่อบอกผู้ฟังว่าผู้พูดยังพูดไม่จบและกำลังใช้ความคิด หรือกำลังประสบปัญหาในการสื่อสาร วางแผนการพูดต่อ เช่น “er, erm, uh, well,          I mean, you know”
            7. กลวิธีกล่าวซ้ำ Repetition Strategy เป็นกลวิธีที่ผู้พูดคำ หรือประโยคโครงสร้างที่ซ้ำๆกัน อาจเกิดจากผู้พูดมีความคุ้นเคยต่อการใช้คำ หรือโครงสร้างดังกล่าว หรือผู้พูดกำลังคิดถึงคำที่จะพูดต่อไป โดยผู้พูดจะกล่าวซ้ำๆตั้งแต่เป็นหน่วยคำไปจนถึงระดับประโยค เช่น “Do you know what an emperor is? What is an emperor?”
            8. กลวิธีแก้ไขผิดพลาดด้วยตัวเอง (Self- Repair Strategy) กลวิธีที่ผู้พูดใช้เมื่อพบว่าตนเองพูดคำผิด หรือพูดไวยากรณ์ผิด จึงพยายามแก้ไขคำหรือประโยคให้ถูกต้องทันทีตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เช่น well, “what I mean to say is”, “speak more slowly”, “I am foreigner”
            9. กลวิธีพูดไม่ตรงประเด็น (Topic Avoidance Strategy) กลวิธีที่ผู้พูดพูดในสิ่งที่ไม่ได้เป็นเป้าหมาย เนื่องจากผู้พูดขาดความพร้อมในการพูด หรือไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดเรื่องนั้นๆ จึงตัดสินใจพูดในเรื่องที่ตัวเองถนัดและมั่นใจ ผู้พูดอาจนำความรู้หรือประสบการณ์ที่ตนมีมาพูดแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึก เพื่อต้องการสื่อความหมายในสิ่งที่ตัวเองเห็น เช่น “your presentation was very exciting by the way have you ever visited our university”
            10. กลวิธียุติการพูด (Message Abandonment Strategy) เป็นกลวิธีที่ผู้พูดหยุดพูดเรื่องที่กำลังพูดอยู่ทันที่ เพื่อต้องการแสดงให้ผู้ฟังทราบว่า ผู้พูดไม่สามารถดำเนินการพูดต่อไปได้อีกแล้ว และต้องหยุดพูดเรื่องนั้นๆ
            11. กลวิธีการพูดภาษาอื่นปนกับภาษาเป้าหมาย (L3-Switch Strategy) กลวิธีที่ใช้ผู้พูดใช้คำที่พูดมาจากภาษาอื่น (ภาษาที่สาม) ที่ไม่ใช่คำจากภาษาแม่ หรือภาษาเป้าหมาย (ภาษาที่สอง) มาสื่อแทนภาษาเป้าหมาย เนื่องจากผู้พูดขาดความรู้คำศัพท์ในภาษาเป้าหมาย
12. กลวิธีการให้ความหมายไม่สมบูรณ์ (Massage Reduction Strategy) กลวิธีที่ผู้พูดสื่อสารได้ใจความน้อยกว่าที่ควรเป็น เป็นคำพูดที่ไม่จบประโยค และขาดใจความสำคัญ เนื่องจากผู้พูดไม่รู้คำศัพท์ในภาษาเป้าหมาย
            ในทัศนะของผู้เขียนขอเสนอแนะวิธีการสอนกลวิธีที่ 4 กลวิธีที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกือบตรงกัน (Approximation Strategy) ซึ่งเหมาะสมกับการใช้ในสถานการณ์จริง และใช้บ่อยสำหรับคนไทยที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา กลวิธีที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกือบตรงกับ (Approximation Strategy) อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลวิธีแทนที่ (paraphrasing) การพูดถึงความหมายของคำในอีกวิถีทางหนึ่ง หรือในอีกความหมายหนึ่ง คือการที่ผู้พูดพยายามอธิบายหน้าที่คำในภาษาเป้าหมายในอีกแนวทางหนึ่ง โดยอาจจะใช้ คำพ้องความหมาย (synonym) หรือ คำตรงกันข้าม (antonyms) เข้ามาช่วย
            ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้พูดไม่รู้จักคำว่า “Vacuum cleaner” ผู้พูดอาจจะพยายามอธิบายหน้าที่ของคำว่า “the machine that we use when we clean our rooms” กลวิธีนี้ไม่ใช้สำหรับผู้เรียนภาษาเท่านั้น สำหรับเจ้าของภาษาเองก็อาจจำเป็นต้องใช้ เพื่อการอธิบายคำศัพท์ที่ไม่แน่ใจ หรือคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยได้   

การวัดผลและการประเมินผล
เกณฑ์การประเมินผลความสามารถการพูดภาษาอังกฤษนั้นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่องค์ประกอบด้านความถูกต้องเหมาะสมในการใช้ภาษาซึ่งหมายถึงมีการออกเสียง คำศัพท์ และการใช้โครงสร้างไวยากรณ์ภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเพียงใด และองค์ประกอบด้านความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา ซึ่งหมายถึงการพูดได้อย่างคล้องแคล้ว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการพูด ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายเพียงใด ส่วนการประเมินอีกลักษณะหนึ่งได้แก่การประเมินการพูดเพื่อการสื่อสาร โดยภาพรวมที่ประเมินความสารถในการพูดเพื่อการสื่อสารของผู้เรียนอยู่ในระดับเกณฑ์ขั้นต่ำ ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ปานกลาง ดี ดีมาก (ชูขวัญ รัตนพิทักษ์ธาดา 2543)
สภาการทดสอบประจำท้องถิ่นมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ การทดสอบการพูดภาษาอังกฤษในระดับต้น University of Cambridge Local Examinations Syndicate: PET SPEAKING, 1996) ได้ให้เกณฑ์การประเมินผลความสารถในการพูดภาษาอังกฤษ โดยแบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบ มีดังนี้
1.      ความคล่องแคล่วการใช้ภาษาอังกฤษ (fluency )
2.      ความถูกต้องและความเหมาะสมในการใช้ภาษาอังกฤษ (accuracy and Appropriateness of Language)
3.      การออกเสียง (pronunciation)
4.      ความสำเร็จในการทำกิจกรรม (task achievement)
ในแต่ละองค์ประกอบใช้มาตราส่วนในการประเมินค่า 5 ระดับคะแนน เช่นการวัดความคล่องแคล่วการใช้ภาษาได้อย่างต่อเนื่อง ให้คะแนน 1 คะแนน ไม่สามารถพูดอังกฤษได้ ให้ 2 คะแนน พูดได้แต่ไม่ต่อเนื่องกันและยากแก่การเข้าใจ ให้ 3 คะแนน พูดด้วยความลังเล จนทำให้ผู้ฟังขาดความอดทนที่จะฟัง ได้ 4 คะแนน พูดด้วยความลังเลใจอย่างเห็นได้ชัดแต่ไม่มีอุปสรรคกับการสื่อสารกับผู้อื่น และให้ 5 คะแนน พูดสื่อสารได้โดยใช้โครงสร้างประโยค คำศัพท์และข้อความที่ถูกต้อง

สรุป
          จากความหมายของกลวิธีการสื่อสารที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่ากลวิธีทางการสื่อสารหมายถึงกระบวนการหรือวิธีการที่ใช้หรือแก้ปัญหาในการติดต่อสื่อสารปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสื่อความหมายที่ถูกต้องอย่างมีระบบของผู้พูด โดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีสติ ทั้งนี้ ยังสามารถแบ่งให้ความหมายของกลวิธีการสื่อสารมีสองแนว คือ ความหมายในแง่ปฏิสัมพันธ์และความหมายในแง่ภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยาจากแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าความสามารถใช้ทักษะการพูดภาษาอังกฤษเป็นทักษะการสื่อสารที่ผู้พูดจำเป็นต้องมีความรู้ด้านโครงสร้างทางไวยากรณ์ คำศัพท์ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางภาษา และมีทักษะในการใช้กลวิธีการพูดเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
            กลวิธีการสื่อสารมีหลายประเภทที่ผู้พูดสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมในการสื่อสาร ได้แก่กลวิธีที่ทำให้สำฤทธิ์ผลซึ่งเป็นกลวิธีที่ผู้พูดใช้เพื่อแก้ปัญหาในขณะที่พูดให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และกลวิธีหลีกเลี่ยงตัดทอน เป็นกลวิธีที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่พูด
กลวิธีทางการสื่อสารเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้บรรลุผลสำเร็จของการสื่อสาร  เป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้เรียนต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในขณะพูดภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่างๆ หากผู้พูดใช้กลวิธีทางการสื่อสารก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการสื่อสารและบรรลุเป้าหมายการสื่อสารได้ 

References
Nunan, D. (2001) Designing tasks for the communicative classroom, Cambridge University Press
Ellis R. (2004), Task-based learning and teaching, Oxford University Press.
Wenden, A. L. (1991). Learner Strategies for Learner Autonomy. Hemel Hempstead: Prentice Hall.
Oxford R. (1990) language learning strategies: what every teacher should know. New York: Newbury House publication
Jack C. Richards (2001) Curriculum Development in Language Teaching. Cambridge University Press
Jack C. Richard (2006) Communicative Language teaching Today  Cambridge University Press
Littewood W. (1979). Communications performance in language development contexts. IRAL vol.17 No.2, pp123-138.
Littewood W. (1981). Communication language Teaching Cambridge University Press.
Brumfit,C.J. and K Johnon (eds) (1979) The Communication approach to Language Teaching. Oxford University Press.
Johnson,K (1979) Communication approaches and Communication process. In Bromfit and Johnson
Widdowson,H.G. (1978) Teaching Language as Communication. Oxford University Press.
Abdesslem,H. (1996) Communicative Strategies or Discourse Strategies in Foreign Language Performance IRL XXXIV(1),49-61
Bialystok,E. (1990) Communicative Strategies: a Psychological Analysis of second Language use. Oxford, UK; Crambride, Mass.: Basil Blackwell.
Pattison, P. (1987) Developing Communicative Skill. Cambridge: New York: Cambridge University Press    
MASAKATSU Ogane (1998) Teaching Communicative Strategies. Todoroki-Cho Junior Hight School. Chiba, Japan 
Selinker, L. 1972. Interlanguage. IRAL XXV/3: 209-31.
Tarone, Elaine. 1980. Communication Strategies, Foreigner Talk, and Repair in Interlanguage. Language Learning, 30: 417-431.
Bialystok, Ellen and Froenlich, M. Oral 1980 Communication Startegies for lexical Difficulty. Intherkanguage studies bulletin 5 january
Ellis. Rode 1984 Communication strategy and the variation of communicative performance ELT journals 38 39-42
SI-Qing, Chen. (1993) A study of communication strategies in interlingua production by Chinese EFL learning Language Lreaning  40 155-187 

1 ความคิดเห็น: