วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Education for all


ผมได้อ่านหนังสือของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรื่องระบบการศึกษา ที่แก้ปัญหาความทุกข์ยากของแผ่นดิน จัดพิมพ์โดยศูนย์จิตปัญญาศึกษา และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล การศึกษาสำหรับคนทั้งมวล (Education for All) ทั้งมวลเพื่อการศึกษา (All for Education) การศึกษารักษาทุกโรค (Education Cure All) ท่านได้พูดถึงการจัดการศึกษาสมัยใหม่อยู่ในลักษณะต่อท่อจากยุโรปมาไทย ประเทศเราสมัยรัชกาลที่ 5 เราไม่มีองค์ความรู้ที่จะพัฒนาประเทศเพื่อป้องกันจากการคลุกคามของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งประเทศยุโรปในสมัยนั้นมีความรู้ ความเจริญ มีอำนาจ สยามประเทศยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นการไปต่อท่อเอามาสรรพสิ่งจากยุโรป เหมือนท่อน้ำเพื่อนำน้ำมาสู่พื้นที่แห้งแล้ง การต่อท่อความรู้เป็นลักษณะของการศึกษาไทยมาจนวันนี้ ทำให้ตัดรากเหง้าของตัวเองจนเกิดวิกฤตไปทุกด้าน เพราะวิธีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกันกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า การศึกษาต่อท่อนี้ทำให้ต้องอาศัยตำราเป็นสื่อไม่ว่าจะเป็นภาษายุโรปหรือภาษาไทยก็ตาม ทำให้การศึกษาของสังคมไทยกลายเป็นการศึกษาแบบท่องตำรา เป็นวิสัยทัศน์ที่ครอบครองพื้นแผ่นดินไทยมาโดยตลอด เป็นระบบการศึกษาที่ก่อความทุกข์ยากให้คนทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็ออกจากความทุกข์ยากไม่ได้ เราต้องค่อยๆทำความเข้าใจเป็นลำดับ เป็นต้น
            สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ท่านให้มองการระบบการเรียนรู้ว่ามีสามประการ คือ จิตตปัญญาศึกษา (รู้แจ้ง) กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (คิดเป็น) ฐานวัฒนธรรม (ทำเป็น) ในการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อการคิดเป็นผมเห็นว่าน่าสนใจ มีขั้นตอน 10 ขั้นตอน ดังนี้
1.      ฝึกสังเกต ใครสังเกตดีก็จะเป็นฐานของการรับรู้ที่ดี
2.      ฝึกบันทึก ฝึกนิสัยและทักษะที่คนไทยขาดยากมาก
3.      ฝึกการนำเสนอ การนำเสนอที่ดีเป็นกระบวนการทางปัญญา
4.      ฝึกการฟัง การฟังที่ดีทำให้เกิดปัญญา (สุตมยปัญญา)
5.      ฝึกปุจฉาวิปัสสนา เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
6.      ฝึกการตั้งสมมุติฐาน และคำถามที่ดี
7.      ฝึกการค้นหาคำตอบ จากแห่งความรู้ทุกชนิดรวมทั้งความรู้ในตัวคน
8.      ถ้าไม่พบคำตอบแสดงว่าไม่มีความรู้นั้นอยู่ในโลก แต่คำถามนั้นยังอยู่และมีความสำคัญ ก็ต้องทำการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่
9.   เมื่อได้ความรู้มาแล้ว ต้องหัดเชื่อมโยงบูรณาการให้เข้าใจทั้งหมด ความรู้ก็จะกลายเป็นปัญญา ไม่เป็นความรู้แบบแยกส่วน
10.  หัดเขียนเรื่องราวทั้งหมดให้ได้ดี การเขียนให้ได้ดีเป็นกระบวนการทางปัญญา และเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ    
โดยท่านให้ข้อสรุปว่าถ้าทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 10 ข้อนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้รู้ลึก ท่านได้เชื่อมโยงความเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบกว้างๆ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่ใช้ผลเข้าไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้สิ่งที่รับรู้กลายเป็นความรู้ที่คมชัดและลึก ดังนั้นในความเข้าใจของผมการที่เรารู้ลึก โดยใช้กระบวนการทางปัญญาถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดก็จะเป็นประโยชน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น