ผมได้ติดตามอ่าน มติชน สุดสัปดาห์ มาเป็นระยะเวลาหลายปีตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรี เหตุผลแรกๆที่ชอบอาจจะไม่ได้หมายถึงชอบทางการเมืองหรือชอบข่าววิเคราะห์รัฐบาลอะไรมากมายนักแต่ที่ติดตามอาจจะเป็นเพราะมีสาระทางวิชาการหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา และกวี ในมิติที่แตกต่างจากหนังสือแบบเดียวกันตามท้องตลาดทั่วไป
ในโอกาสการรอคอยการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 นายกหญิงคนแรกของประเทศไทยและนายกรัฐมนตรีหญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก อายุ44 ปี มติชนฉบับประจำวันที่ 29 ก.ค.- 4 ส.ค. 2554 มีคอลัมน์เล็กๆชื่อวางบิลได้ลงบทความปาฐกถาของ ศาสตราจารย์ กิติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ เรื่อง “ครุศึกษากับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย” กล่าวโดยสรุปของปาฐกดังนี้คือสาระการเรียนรู้ที่สถาบันครุศึกษาไม่ได้สอนหรือนิสิตเรียนรู้ได้น้อย
1.การมองตนและสำรวจตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อรู้จักตน เข้าใจและเห็นคุณค่าของตน ตระหนักในความรับผิดชอบของตน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น
2. วิธีการคิดและปัจจัยที่มีผลต่อวิธีการคิดพิจารณาอย่างใครครวญ รู้จักตริ (วิตกะ) และรู้จักตรอง (วิจารณะ) รวมถึงความเข้าใจในหลัก บริบทและผลที่เกิดจากการคิด
3. การค้นหาลีลาการเรียนรู้ของตนเอง (Learning Style) เพื่อจะค้นพบและเกิดการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อชีวิต รู้จักแสวงหาแหล่งวิทยาการ ทั้งที่เป็นบุคคล ธรรมชาติแวดล้อม เทคโนโลยี สถานการณ์ และตัวอย่างต้นแบบของความสำเร็จ
4. การสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์เพื่อจะได้มีกัลยาณมิตร สามารถสร้างทีมงานเครือข่าย กลุ่มสนใจ ที่จะสามารถสร้างพลังการทำงาน และการพัฒนาตน
5. กิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ในระบบพี่เลี้ยง (mentor) การเป็นผู้ฝึกตน (coaching) การเป็นเพื่อนคู่คิด (peer) การเป็นกระบวนการ (facilitator) การเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้นิเทศ
6. ความเข้าใจในหลักชุมชนท้องถิ่นบริบทพื้นบ้านของไทย และวิธีการผสมผสานความเป็นท้องถิ่น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ดี จากการจัดการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนเป็นครูต้องได้ฝึกฝน สถาบันครุศึกษาจำเป็นต้องจัดบรรยากาศวางแผนบริหารจัดการ และพัฒนาคณาจารย์ให้สามารถเติมเต็มสาระการเรียนรู้ที่ขาดหายไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสิตนักศึกษาต้องได้รับการพัฒนาทั้งทางกายและจิตใจ เพื่อมีความพร้อมและมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอที่จะก้าวไปในเส้นทางวิชาชีพครู
ทั้งนี้สาระการเรียนรู้ที่สถาบันครุศึกษาไม่ได้สอนหรือนิสิตเรียนรู้ได้น้อย อาจจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นสำหรับผู้ที่จะออกแบบหลักสูตร หรือผู้ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ควรให้น้ำหนักของความสนใจในกระบวนการการเรียนรู้ เพื่อการสร้างหลักสูตรที่สามารถไปสร้างครูที่สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองในสายวิชาชีพได้ และต้องมีความรู้ในหลายมิติและผสมผสานและแก้ไขปัญหาอุปสรรคของชีวิตได้ ทั้งนี้การเริ่มต้นเป็นครูก็คือก้าวแรกที่จะต้องเรียนรู้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น