วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดร. อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร



องค์ประกอบด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองกับการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการวิจัย

๑.     ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า “หลักสูตร”  นั้นประกอบด้วย (๑)โครงสร้าง (๒) เป้าหมายหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ (๓) เนื้อหา (๔) กิจกรรม และ (๕) การวัดและประเมินผล แต่ถ้าพูดกันสั้นๆ มีความเข้าใจกันว่า “หลักสูตร” คือสิ่งที่สะท้อนว่าผู้เรียนจะได้ผลลัพธ์อะไรเมื่อเรียนจบหลักสูตร ทั้งในแง่ของเนื้อหาวิชาและทักษะที่เกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนั้นเอง การเขียนหลักสูตรในสมัยหลังๆนี้จะไม่นิยมเขียน เนื้อหาที่จะเรียน (What to Be Taught) ในรายวิชา แต่จะนิยมเขียนเป็น “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (What is Learned หรือ Learning Outcomes)
๒.    ในการพัฒนาหลักสูตจึงต้องมีข้อตกลงกันให้ชัดเจนก่อนว่าจะให้ผู้เรียนเรียนรู้อะไร ทั้งในด้านองค์ความรู้และทักษะด้านต่างๆ และในการพิจารณาว่าผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้อะไร นี้เอง ทำให้ผู้พัฒนาหลักสูตรต้องหันมาพิจารณาถึงบริบทต่างๆในสังคมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในสถานการณ์ที่บริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและระบบนิเวศมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อน การพิจารณาในประเด็นเหล่านี้เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร ยิ่งมีความยากและสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเหตุดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องมีความรู้และความเข้ใจในบริบทด้านต่างๆที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือนักพัฒนาหลักสูตร มีความจำเป็นต้องเช้าใจบริบททางสังคม การเมือง วัฒนธรรมและระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำการงานอาชีพ
อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านต่างๆและความเชื่อมโยงของระบบต่างๆในสังคมตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับชาติและระดับสากล เป็นเรื่องทีค่อนข้างยาก แต่ถ้านักพัฒนาหลักสูตรไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจนและทันกาล การพัฒนาหลักสูตรก็จะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม
       ๓. ในยุคปัจจุบันนี้มีแนวโน้มอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในบริบทด้านต่างๆ
             ถ้าเราพิจารณาอย่างรอบคอบจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านต่างๆเกิดขึ้นอย่าง    รวดเร็วตลอดเวลา เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่เราเรียกว่า Climate Change ซึ่งก่อให้เกิดภาวะผันผวนต่างๆมากมาย เช่น แผ่นดินไหวบ่อยขึ้น ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก น้ำท่วมมากขึ้นและบ่อยขึ้น การเกิดคลื่นยักษ์ที่เรียกว่าสึนามิ การเกิดพายุชนิดร้ายแรง เป็นต้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านระบบการเงินและเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศต่างๆที่มีความผันผวนอย่างมาก จนอาจจะก่อให้เกดปัญหากระทบต่อกันทั่วโลก การเกิดขึ้นของความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะในอัฟริกาและตะวันออกกลางที่เรียนกว่า Arab Spring ก็ส่งผลกระทบต่อการเมืองระดับโลกและระดับอื่นๆมาก เป็นต้น แม้แต่ในประเทศไทยของเราเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในสามเดือนที่ผ่านมาและมีทีท่าว่าจะเกิดซ้ำอีกในปีนี้หรือในอนาคต การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากการเน้นการอุตสาหกรรมส่งออกและการบริการแบบเดิมๆมาเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า Creative Economy ซึ่งปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ อย่างชัดเจน การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น และอีกสามปีข้างหน้า ประเทศของเราจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนซึ่งมีทั้งมิติความมั่นคง (ASEAN Security Community)มิติเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community) และมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) เป็นต้น ในด้านการเมืองของเรานอกจากมีความขัดแย้งกันในแนวความคิดและการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ หรือข้อเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมก็มีผลต่อการพัฒนาหลักสูตรมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีประชาการทั้งหมดประมาณ ๖๗ ล้านคน แต่ในขณะเดียวกันก็มีประชากรที่เรียกว่า “ผู้สูงอายุ” คือประชาการที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งในปัจจุบันนี้มีประมาณ ๙ ล้านคนแล้ว มองในแง่อัตราการเกิดของทารก ก็พบว่าในแต่ละปีมีทารกเกิดใหม่ปีละประมาณ ๗ แสนคน ยิ่งถ้าเรานำเอาตัวเลขเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาและการจัดสวัสดิการสังคม เราจะเห็นความซับซ้อนต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมาก ที่กล่าวมานี้ยังมิได้พูดถึงปัญหาอัตราการหย่าร้างของครอบครัวไทยซึ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ ๕๐ แล้ว และจำนวนครอบครัวที่เรียกว่า Single Parent ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายกรเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น และในฐานะนักพัฒนาหลักสูตร เราไม่มีทางปฏิเสธการรับรู้และเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้เลย
๔.    ที่กล่าวมาอย่างคร่าวๆนี้ ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า นักศึกษาที่เรียนอยู่ในหลักสูตร “หลักสูตรและการสอน” ระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ได้มีการเรียนการสอนหรือการสัมมนาในประเด็นเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงไร ต้องไม่ลืมว่า การเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตรมิใช่การเรียนเพียงด้านเทคนิควิธีการพัฒนาหลักสูตร แต่การพัฒนาหลักสูตรเป็นเรื่องของวิธีคิดที่ทันสมัย ถ้าในโปรแกรมที่เรียนไม่มีรายวิชาหรือเนื้อหาในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและระบบนิเวศก็ยากที่จะสร้างนักพัฒนาหลักสูตรที่ดีและมีความรู้เพียงพอได้ เพราะเริ่มต้นก็ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมได้เสียแล้ว การกำหนดเนื้อหาในรายวิชายิ่งไม่ต้องพูดถึง คิดว่าประเด็นนี้ผู้ที่รับผิดชอบโปรแกรมนี้ต้องดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงให้ได้ต่อไป
๕.    พิจารณาเพียงเรื่องเดียว เช่น เรื่องการจัดหลักสูตรเพื่อการเตรียมการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ การจัดการศึกษาในทุกระดับของเรา จะจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร เพราะเรื่องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นั้น เรามักได้ยินกันเพียงมิติเดียวคือ ASEAN Economic Community --AEC) หรือประชาคมอาเซียนด้านเศรษฐกิจ แต่เราไม่ค่อยได้ยินการพูดถีง ASEAN Security Community—ASC หรือ การพูดถึง ASEAN Socio-Cultural Community---ASCC เอาเลย และที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นก็คือ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน มิได้มีนัยเพียงว่าเราจะเตรียมคนของเราให้เก่งเท่ากับคนของสมาชิกอาเซียนอื่นๆดังที่พูดกัน แต่นัยที่สำคัญกว่าคือ การเตรียมคนของเราให้บูรณาการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมอาเซียนเพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนแข็งแกร่งพอที่จะไปต่อสู้หรือแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจหรือประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีหรือ ประชาคมยุโรปได้ในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้น การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เราจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ประชนในประเทศสมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และ ฯลฯ ของประเทศอื่นและอยู่ร่วมกันแบบUnity in Diversity กล่าวคือ เคารพในความแตกต่างหลากหลายได้ เป็นต้น
คิดว่าในประเด็นเหล่านี้การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในระดับต่างๆ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือการจัดการศึกษานอกระบบ เราจะพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร น่าจะได้ให้นักศึกษาลองปฏิบัติดู จะได้ประโยชน์มากทีเดียว
๖.      หรือถ้าเราจะพัฒนาหลักสูตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาความอ่อนแอของระบบครอบครัว ฯลฯ ในฐานะนักศึกษาที่เรียนด้านการพัฒนาหลักสูตร เรามีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เราเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เรามองเห็นความซับซ้อนของปัญหาแต่ละอย่างได้ชัดเจนหรือไม่เพียงใด การตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาและอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง จะนำไปสู่ประเด็นการวิจัย เพื่อจะทำให้เรามีความเข้าใจในรากเหง้าของปัญหาเหล่านี้และเห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของระบบต่างๆได้ชัดเจน ขึ้น
๗.    อย่างไรก็ตามถ้าความรู้ความเข้าใจและความสามารถในด้านการวิจัยของนักศึกษามีแค่หางอึ่ง ก็ย่อมไม่สามารถทำงานวิจัยที่มีโจทย์การวิจัยที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้ และเมื่อไม่สามารถมลทำงานวิจัยกับโจทย์การวิจัยที่ซับซ้อนได้ ประเด็นก็หวนกลับมาที่เดิม คือ เราไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีพอในการกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรที่เราจะพัฒนา ไปๆมาๆ การเรียนสาชาวิชาหลักสูตรและวิธีสอนก็เรียนกันไป โดยไม่รู้ว่าเป้าประสงค์หลักของโปรแกรมนี้อยู่ที่ไหน นอกจากเรียนให้จบๆกันไปเพื่อได้ปริญญาไว้ประดับบารมี (ปลอมๆ) อันที่จริงแล้ว มีโจทย์การวิจัยที่สำคัญและน่าสนใจมากมาย ที่ทำวิจัยแล้วสามารถนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้มาก เช่น เรื่องการออกกลางคันของนักเรียนขั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ซึ่งมีเป็นเรือนแสนในแต่ละปี หรือ ปัญหาเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีเป็นหมื่นโรง หรือ ประเด็นเรื่องการเรียนภาษาต่างประเทศของนักเรียนไทย หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องเอ่ยถึงปัญหาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเวลาราชการและที่จัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้ง เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้หากมีการทำวิจัยอย่างถูกต้องใช้วิธีวิทยาการวิจัยที่ซับซ้อนเพียงพอ ก็สามารถนำผลการวิจัยมาใช้ได้มาก
๘.    สรุป
กล่าวโดยสรุปก็คือ การพัฒนาตนเพื่อให้เป็นนักพัฒนาหลักสูตรที่ดี จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในบริบทต่างๆโดยเฉพาะกระแสการเปลี่ยนแปลงของบริบทเหล่านั้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมืองและระบบนิเวศ และในขณะเดียวกันถ้าเรามีความสามารถในการวิจัยด้วยก็ยิ่งจะมีประโยชน์มากขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ความสามารถในด้านการวิจัยมากพอที่จะเป็นนักวิจัยด้วยตนเอง การพัฒนาตนให้เป็นผู้บริโภคผลงานวิจัยของผู้อื่นก็มีความสำคัญและมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ที่จะพัฒนาหลักสูตร

(แนวการบรรยายให้นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาหลักสูตรและวิธีสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ ๑๑ก.พ. ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น.)
อุทัย ดุลยเกษม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น