วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดร. อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร



องค์ประกอบด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองกับการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการวิจัย

๑.     ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า “หลักสูตร”  นั้นประกอบด้วย (๑)โครงสร้าง (๒) เป้าหมายหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ (๓) เนื้อหา (๔) กิจกรรม และ (๕) การวัดและประเมินผล แต่ถ้าพูดกันสั้นๆ มีความเข้าใจกันว่า “หลักสูตร” คือสิ่งที่สะท้อนว่าผู้เรียนจะได้ผลลัพธ์อะไรเมื่อเรียนจบหลักสูตร ทั้งในแง่ของเนื้อหาวิชาและทักษะที่เกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนั้นเอง การเขียนหลักสูตรในสมัยหลังๆนี้จะไม่นิยมเขียน เนื้อหาที่จะเรียน (What to Be Taught) ในรายวิชา แต่จะนิยมเขียนเป็น “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (What is Learned หรือ Learning Outcomes)
๒.    ในการพัฒนาหลักสูตจึงต้องมีข้อตกลงกันให้ชัดเจนก่อนว่าจะให้ผู้เรียนเรียนรู้อะไร ทั้งในด้านองค์ความรู้และทักษะด้านต่างๆ และในการพิจารณาว่าผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้อะไร นี้เอง ทำให้ผู้พัฒนาหลักสูตรต้องหันมาพิจารณาถึงบริบทต่างๆในสังคมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในสถานการณ์ที่บริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและระบบนิเวศมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อน การพิจารณาในประเด็นเหล่านี้เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร ยิ่งมีความยากและสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเหตุดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องมีความรู้และความเข้ใจในบริบทด้านต่างๆที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือนักพัฒนาหลักสูตร มีความจำเป็นต้องเช้าใจบริบททางสังคม การเมือง วัฒนธรรมและระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำการงานอาชีพ
อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านต่างๆและความเชื่อมโยงของระบบต่างๆในสังคมตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับชาติและระดับสากล เป็นเรื่องทีค่อนข้างยาก แต่ถ้านักพัฒนาหลักสูตรไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจนและทันกาล การพัฒนาหลักสูตรก็จะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม
       ๓. ในยุคปัจจุบันนี้มีแนวโน้มอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในบริบทด้านต่างๆ
             ถ้าเราพิจารณาอย่างรอบคอบจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านต่างๆเกิดขึ้นอย่าง    รวดเร็วตลอดเวลา เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่เราเรียกว่า Climate Change ซึ่งก่อให้เกิดภาวะผันผวนต่างๆมากมาย เช่น แผ่นดินไหวบ่อยขึ้น ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก น้ำท่วมมากขึ้นและบ่อยขึ้น การเกิดคลื่นยักษ์ที่เรียกว่าสึนามิ การเกิดพายุชนิดร้ายแรง เป็นต้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านระบบการเงินและเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศต่างๆที่มีความผันผวนอย่างมาก จนอาจจะก่อให้เกดปัญหากระทบต่อกันทั่วโลก การเกิดขึ้นของความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะในอัฟริกาและตะวันออกกลางที่เรียนกว่า Arab Spring ก็ส่งผลกระทบต่อการเมืองระดับโลกและระดับอื่นๆมาก เป็นต้น แม้แต่ในประเทศไทยของเราเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในสามเดือนที่ผ่านมาและมีทีท่าว่าจะเกิดซ้ำอีกในปีนี้หรือในอนาคต การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากการเน้นการอุตสาหกรรมส่งออกและการบริการแบบเดิมๆมาเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า Creative Economy ซึ่งปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ อย่างชัดเจน การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น และอีกสามปีข้างหน้า ประเทศของเราจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนซึ่งมีทั้งมิติความมั่นคง (ASEAN Security Community)มิติเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community) และมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) เป็นต้น ในด้านการเมืองของเรานอกจากมีความขัดแย้งกันในแนวความคิดและการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ หรือข้อเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมก็มีผลต่อการพัฒนาหลักสูตรมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีประชาการทั้งหมดประมาณ ๖๗ ล้านคน แต่ในขณะเดียวกันก็มีประชากรที่เรียกว่า “ผู้สูงอายุ” คือประชาการที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งในปัจจุบันนี้มีประมาณ ๙ ล้านคนแล้ว มองในแง่อัตราการเกิดของทารก ก็พบว่าในแต่ละปีมีทารกเกิดใหม่ปีละประมาณ ๗ แสนคน ยิ่งถ้าเรานำเอาตัวเลขเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาและการจัดสวัสดิการสังคม เราจะเห็นความซับซ้อนต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมาก ที่กล่าวมานี้ยังมิได้พูดถึงปัญหาอัตราการหย่าร้างของครอบครัวไทยซึ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ ๕๐ แล้ว และจำนวนครอบครัวที่เรียกว่า Single Parent ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายกรเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น และในฐานะนักพัฒนาหลักสูตร เราไม่มีทางปฏิเสธการรับรู้และเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้เลย
๔.    ที่กล่าวมาอย่างคร่าวๆนี้ ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า นักศึกษาที่เรียนอยู่ในหลักสูตร “หลักสูตรและการสอน” ระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ได้มีการเรียนการสอนหรือการสัมมนาในประเด็นเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงไร ต้องไม่ลืมว่า การเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตรมิใช่การเรียนเพียงด้านเทคนิควิธีการพัฒนาหลักสูตร แต่การพัฒนาหลักสูตรเป็นเรื่องของวิธีคิดที่ทันสมัย ถ้าในโปรแกรมที่เรียนไม่มีรายวิชาหรือเนื้อหาในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและระบบนิเวศก็ยากที่จะสร้างนักพัฒนาหลักสูตรที่ดีและมีความรู้เพียงพอได้ เพราะเริ่มต้นก็ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมได้เสียแล้ว การกำหนดเนื้อหาในรายวิชายิ่งไม่ต้องพูดถึง คิดว่าประเด็นนี้ผู้ที่รับผิดชอบโปรแกรมนี้ต้องดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงให้ได้ต่อไป
๕.    พิจารณาเพียงเรื่องเดียว เช่น เรื่องการจัดหลักสูตรเพื่อการเตรียมการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ การจัดการศึกษาในทุกระดับของเรา จะจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร เพราะเรื่องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นั้น เรามักได้ยินกันเพียงมิติเดียวคือ ASEAN Economic Community --AEC) หรือประชาคมอาเซียนด้านเศรษฐกิจ แต่เราไม่ค่อยได้ยินการพูดถีง ASEAN Security Community—ASC หรือ การพูดถึง ASEAN Socio-Cultural Community---ASCC เอาเลย และที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นก็คือ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน มิได้มีนัยเพียงว่าเราจะเตรียมคนของเราให้เก่งเท่ากับคนของสมาชิกอาเซียนอื่นๆดังที่พูดกัน แต่นัยที่สำคัญกว่าคือ การเตรียมคนของเราให้บูรณาการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมอาเซียนเพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนแข็งแกร่งพอที่จะไปต่อสู้หรือแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจหรือประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีหรือ ประชาคมยุโรปได้ในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้น การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เราจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ประชนในประเทศสมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และ ฯลฯ ของประเทศอื่นและอยู่ร่วมกันแบบUnity in Diversity กล่าวคือ เคารพในความแตกต่างหลากหลายได้ เป็นต้น
คิดว่าในประเด็นเหล่านี้การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในระดับต่างๆ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือการจัดการศึกษานอกระบบ เราจะพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร น่าจะได้ให้นักศึกษาลองปฏิบัติดู จะได้ประโยชน์มากทีเดียว
๖.      หรือถ้าเราจะพัฒนาหลักสูตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาความอ่อนแอของระบบครอบครัว ฯลฯ ในฐานะนักศึกษาที่เรียนด้านการพัฒนาหลักสูตร เรามีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เราเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เรามองเห็นความซับซ้อนของปัญหาแต่ละอย่างได้ชัดเจนหรือไม่เพียงใด การตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาและอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง จะนำไปสู่ประเด็นการวิจัย เพื่อจะทำให้เรามีความเข้าใจในรากเหง้าของปัญหาเหล่านี้และเห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของระบบต่างๆได้ชัดเจน ขึ้น
๗.    อย่างไรก็ตามถ้าความรู้ความเข้าใจและความสามารถในด้านการวิจัยของนักศึกษามีแค่หางอึ่ง ก็ย่อมไม่สามารถทำงานวิจัยที่มีโจทย์การวิจัยที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้ และเมื่อไม่สามารถมลทำงานวิจัยกับโจทย์การวิจัยที่ซับซ้อนได้ ประเด็นก็หวนกลับมาที่เดิม คือ เราไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีพอในการกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรที่เราจะพัฒนา ไปๆมาๆ การเรียนสาชาวิชาหลักสูตรและวิธีสอนก็เรียนกันไป โดยไม่รู้ว่าเป้าประสงค์หลักของโปรแกรมนี้อยู่ที่ไหน นอกจากเรียนให้จบๆกันไปเพื่อได้ปริญญาไว้ประดับบารมี (ปลอมๆ) อันที่จริงแล้ว มีโจทย์การวิจัยที่สำคัญและน่าสนใจมากมาย ที่ทำวิจัยแล้วสามารถนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้มาก เช่น เรื่องการออกกลางคันของนักเรียนขั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ซึ่งมีเป็นเรือนแสนในแต่ละปี หรือ ปัญหาเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีเป็นหมื่นโรง หรือ ประเด็นเรื่องการเรียนภาษาต่างประเทศของนักเรียนไทย หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องเอ่ยถึงปัญหาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเวลาราชการและที่จัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้ง เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้หากมีการทำวิจัยอย่างถูกต้องใช้วิธีวิทยาการวิจัยที่ซับซ้อนเพียงพอ ก็สามารถนำผลการวิจัยมาใช้ได้มาก
๘.    สรุป
กล่าวโดยสรุปก็คือ การพัฒนาตนเพื่อให้เป็นนักพัฒนาหลักสูตรที่ดี จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในบริบทต่างๆโดยเฉพาะกระแสการเปลี่ยนแปลงของบริบทเหล่านั้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมืองและระบบนิเวศ และในขณะเดียวกันถ้าเรามีความสามารถในการวิจัยด้วยก็ยิ่งจะมีประโยชน์มากขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ความสามารถในด้านการวิจัยมากพอที่จะเป็นนักวิจัยด้วยตนเอง การพัฒนาตนให้เป็นผู้บริโภคผลงานวิจัยของผู้อื่นก็มีความสำคัญและมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ที่จะพัฒนาหลักสูตร

(แนวการบรรยายให้นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาหลักสูตรและวิธีสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ ๑๑ก.พ. ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น.)
อุทัย ดุลยเกษม

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

องค์ประกอบของโครงร่างการวิจัย




        โครงร่างการวิจัย ควรมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้
                         1.   ชื่อเรื่อง
                         2.   ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย
                         3.   วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                          4.   คำถามของการวิจัย
                         5.   ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                         6.   สมมติฐาน* และกรอบแนวความคิดในการวิจัย*
                         7.   ขอบเขตของการวิจัย
                         8.   การให้คำนิยามเชิงปฏิบัติที่จะใช้ในการวิจัย*
                         9.   ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย
                         10. ระเบียบวิธีวิจัย
                         11. ระยะเวลาในการดำเนินงาน
                         12. งบประมาณค่าใช้จ่ายในการวิจัย
                         13. บรรณานุกรม
                         14. ภาคผนวก*
                         15. ประวัติของผู้ดำเนินการวิจัย
* ไม่จำเป็นต้องมีทุกโครงการ

1.   ชื่อเรื่อง (the title)
      ชื่อเรื่องควรมีความหมายสั้น กะทัดรัดและชัดเจน เพื่อระบุถึงเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัย ว่าทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือต้องการผลอะไร ยกตัวอย่างเช่น ประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันกับทหารในศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ 2547” ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่ยาวมากๆ อาจแบ่งชื่อเรื่องออกเป็น 2 ตอน โดยให้ชื่อในตอนแรกมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่า และตอนที่สองเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนขยาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : การเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร 2547
        นอกจากนี้ ควรคำนึงด้วยว่าชื่อเรื่องกับเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการศึกษาควรมีความสอดคล้องกันการเลือกเรื่องในการทำวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ หลายประเด็น โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากผลของการวิจัย ในการเลือกหัวเรื่องของการวิจัย มีข้อควรพิจารณา 4 หัวข้อ คือ
        1.1    ความสนใจของผู้วิจัย
                  ควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด และควรเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป
        1.2    ความสำคัญของเรื่องที่จะทำวิจัย
                  ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และนำไปใช้ปฏิบัติหรือสร้างแนวความคิดใหม่ๆ ได้
                  โดยเฉพาะเกี่ยวกับงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวหรือเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ
        1.3    เป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้
                  เรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัยที่จะทำวิจัยได้ โดยไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น
                  ด้านจริยธรรม ด้านงบประมาณ ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล ด้านระยะเวลาและการ
                  บริหาร ด้านการเมือง หรือเกินความสามารถของผู้วิจัย
        1.4    ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว
                  ซึ่งอาจมีความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชื่อเรื่องและ
                  ปัญหาของการวิจัย (พบมากที่สุด) สถานที่ที่ทำการวิจัย ระยะเวลาที่ทำการวิจัย วิธีการ หรือ
                  ระเบียบวิธีของการวิจัย

2.   ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (background and rationale)
      อาจเรียกต่างๆกัน เช่น หลักการและเหตุผล ภูมิหลังของปัญหา ความจำเป็นที่จะทำการวิจัย หรือ ความสำคัญของโครงการวิจัย ฯลฯ ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร ต้องระบุว่าปัญหาการวิจัยคืออะไร มีความเป็นมาหรือภูมิหลังอย่างไร มีความสำคัญ รวมทั้งความจำเป็น คุณค่า และประโยชน์ ที่จะได้จากผลการวิจัยในเรื่องนี้ โดยผู้วิจัยควรเริ่มจากการเขียนปูพื้นโดยมองปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาอย่างกว้างๆ ก่อนว่าสภาพทั่วๆไปของปัญหาเป็นอย่างไร และภายในสภาพที่กล่าวถึง  มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ประเด็นปัญหาที่ผู้วิจัยหยิบยกมาศึกษาคืออะไร ระบุว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาแล้วหรือยัง ที่ใดบ้าง และการศึกษาที่เสนอนี้จะช่วยเพิ่มคุณค่า ต่องานด้านนี้ ได้อย่างไร

3.   วัตถุประสงค์ของการวิจัย (objectives)
      เป็นการกำหนดว่าต้องการศึกษาในประเด็นใดบ้าง ในเรื่องที่จะทำวิจัย ต้องชัดเจน และเฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ โดยบ่งชี้ถึง สิ่งที่จะทำ ทั้งขอบเขต และคำตอบที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว การตั้งวัตถุประสงค์ ต้องให้สมเหตุสมผล กับทรัพยากรที่เสนอขอ และเวลาที่จะใช้ จำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ
        3.1    วัตถุประสงค์ทั่วไป (General Objective) กล่าวถึงสิ่งที่ คาดหวัง (implication) หรือสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการวิจัยนี้ เป็นการแสดงรายละเอียด เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย ในระดับกว้าง จึงควรครอบคลุมงานวิจัยที่จะทำทั้งหมด
                  ตัวอย่างเช่น
                  เพื่อศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์ และความต้องการของผู้ติดเชื้อเอดส์ ครอบครัว และชุมชน
        3.2    วัตถุประสงค์เฉพาะ (Specific Objective) จะพรรณนาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง ในงานวิจัยนี้ โดยอธิบายรายละเอียดว่า จะทำอะไร โดยใคร ทำมากน้อยเพียงใด ที่ไหน เมื่อไร และเพื่ออะไร โดยการเรียงหัวข้อ ควรเรียงตามลำดับความสำคัญ ก่อน หลัง ตัวอย่างเช่น
                  3.2.1    เพื่อศึกษาถึงรูปแบบปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวของผู้ติดเชื้อเอดส์ ครอบครัว และชุมชน
                  3.2.2    เพื่อศึกษาถึงปัญหาและความต้องการของผู้ติดเชื้อเอดส์ ครอบครัว และชุมชน

4.   คำถามของการวิจัย (research question )
        เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องกำหนดขึ้น (problem identification) และให้นิยามปัญหานั้น อย่างชัดเจน เพราะปัญหาที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้วิจัย กำหนดวัตถุประสงค์ ตั้งสมมติฐาน ให้นิยามตัวแปรที่สำคัญ ๆ ตลอดจน การวัดตัวแปรเหล่านั้นได้ ถ้าผู้วิจัย ตั้งคำถามที่ไม่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ตัวก็ยังไม่แน่ใจ ว่าจะศึกษาอะไร ทำให้การวางแผนในขั้นต่อไป เกิดความสับสนได้
        คำถามของการวิจัยต้องเหมาะสม (relevant) หรือสัมพันธ์ กับเรื่องที่จะศึกษา โดยควรมีคำถาม ที่สำคัญที่สุด ซึ่งผู้วิจัย ต้องการคำตอบ มากที่สุด เพื่อคำถามเดียว เรียกว่า คำถามหลัก (primary research question) ซึ่งคำถามหลักนี้ จะนำมาใช้เป็นข้อมูล ในการคำนวณ ขนาดของตัวอย่าง (sample size) แต่ผู้วิจัย อาจกำหนดให้มี คำถามรอง (secondary research question) อีกจำนวนหนึ่งก็ได้ ซึ่งคำถามรองนี้ เป็นคำถาม ที่เราต้องการคำตอบ เช่นเดียวกัน แต่มีความสำคัญรองลงมา โดยผู้วิจัย ต้องระลึกว่า ผลของการวิจัย อาจไม่สามารถ ตอบคำถามรองนี้ได้ ทั้งนี้เพราะ การคำนวณขนาดตัวอย่าง ไม่ได้คำนวณเพื่อตอบคำถามรองเหล่านี้
5.   ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (review of related literatures)
        อาจเรียกว่า การทบทวนวรรณกรรม ส่วนนี้เป็นการเขียนถึงสิ่งที่ผู้วิจัยได้มาจากการศึกษาค้นคว้าเอกสารต่างๆ ทั้งทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ ทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริงต่างๆ แนวความคิดของผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของผู้วิจัย รวมทั้งมองเห็นแนวทางในการดำเนินการศึกษาร่วมไปกับผู้วิจัยด้วย โดยจัดลำดับหัวข้อหรือเนื้อเรื่องที่เขียนตามตัวแปรที่ศึกษา และในแต่ละหัวข้อเนื้อเรื่องก็จัดเรียงตามลำดับเวลาด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นพัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหา นอกจากนี้ผู้วิจัยควรจะต้องมีการสรุปไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความสัมพันธ์ทั้งส่วนที่สอดคล้องกัน ขัดแย้งกัน และส่วนที่ยังไม่ได้ศึกษาทั้งในแง่ประเด็น เวลา สถานที่ วิธีการศึกษาฯลฯ การเขียนส่วนนี้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการตั้งสมมติฐานด้วย
        หลังจากที่ผู้วิจัยได้เขียนเรียบเรียงการทบทวนวรรณกรรมแล้ว ควรมีการประเมินงานเขียนเรียบเรียงนั้นอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีความสมบูรณ์ทั้งเนื้อหา ภาษา และความต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน สำหรับการประเมินการเขียนเรียบเรียงการทบทวนวรรณกรรม Polit & Hungler (1983, อ้างใน ธวัชชัย วรพงศธร, 2538 ) ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญไว้ โดยการให้ตอบคำถามต่อไปนี้
        5.1    รายงานนั้นได้มีการเชื่อมโยงปัญหาที่ศึกษากับปัญหาวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศึกษามาก่อนแล้ว
                  หรือไม่
                  5.1.1    รายงานนั้นได้เรียบเรียงจากแหล่งเอกสารทุติยภูมิมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งตามความ
                  เป็นจริงแล้วควรใช้แหล่งเอกสารปฐมภูมิ (ต้นฉบับ) ให้มากที่สุด
                  5.1.2    รายงานได้ครอบคลุมเอกสาร ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ศึกษาครบหมดหรือไม่
                  5.1.3    รายงานได้ครอบคลุมเอกสารใหม่ๆหรือไม่
                  5.1.4    รายงานได้เน้นในเรื่องความคิดเห็น หรือการบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรม
                                มากเกินไป และมีการเน้นผลการวิจัยด้านปฏิบัติจริงๆ น้อยไปหรือไม่
                  5.1.5    รายงานได้เรียบเรียงข้อความอย่างต่อเนื่องสมบูรณ์หรือไม่ หรือเป็นเพียงแต่ลอก
                                ข้อความจากเอกสารต้นฉบับมาเรียงต่อกันเท่านั้น
                  5.1.6    รายงานนั้นเป็นแต่เพียงสรุปผลการศึกษาที่ทำมาแล้วเท่านั้น หรือเป็นการเขียนใน
                                เชิงวิเคราะห์วิจารณ์ และเปรียบเทียบกับผลงานเด่นๆ ที่ศึกษามาแล้วหรือไม่
                  5.1.7    รายงานได้เรียบเรียงในลักษณะที่เชื่อมโยง และชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในความ
                                คิดอย่างชัดเจนมากน้อยแค่ไหน
                  5.1.8    รายงานได้นำผลสรุปของงานวิจัยและข้อเสนอแนะของการนำผลการวิจัยไปใช้
                                ทั้งหมด มาเชื่อมโยงกับปัญหาที่จะศึกษามากน้อยแค่ไหน
        5.2    รายงานนั้นได้มีการเชื่อมโยงปัญหาที่ศึกษากับกรอบทฤษฎี หรือ กรอบแนวคิดหรือไม่
                  5.2.1    รายงานได้เชื่อมโยงกรอบทฤษฎีกับปัญหาที่ศึกษาอย่างเป็นธรรมชาติหรือไม่
                  5.2.2    รายงานได้เปิดช่องโหว่ให้เห็นถึงกรอบแนวคิดอื่นที่เหมาะสมกว่าหรือไม่
                  5.2.3    รายงานได้เชื่อมโยงอนุมานจากทฤษฎี หรือกรอบแนวคิดอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่

6.   สมมติฐาน (Hypothesis) และกรอบแนวคิดในการวิจัย (conceptual framework)
        การตั้งสมมติฐาน เป็นการคาดคะเนหรือการทายคำตอบอย่างมีเหตุผล มักเขียนในลักษณะ การแสดงความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้น(independent variables) และตัวแปรตาม (dependent variable) เช่น การติดเฮโรอีนชนิดฉีด เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเอดส์ สมมติฐานทำหน้าที่เสมือนเป็นทิศทาง และแนวทาง ในการวิจัย จะช่วยเสนอแนะ แนวทางในการ เก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป สมมติฐานต้องตอบวัตถูประสงค์ของการวิจัยได้ครบถ้วนและทดสอบและวัดได้
        นอกจากนี้ ผู้วิจัยควรนำเอาสมมติฐานต่างๆ ที่เขียนไว้มารวมกันให้เป็นระบบและมีความเชื่อมโยงกันในลักษณะที่เป็นกรอบแนวความคิดของการศึกษาวิจัยทั้งเรื่อง เช่น จะศึกษาถึง พฤติกรรมสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยของคนงาน อาจต้องแสดง (นิยมทำเป็นแผนภูมิ) ถึงที่มาหรือปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดในพฤติกรรมดังกล่าว หรือในทางกลับกัน ผู้วิจัยอาจกำหนดกรอบแนวความคิดของการวิจัย ซึ่งระบุว่าการวิจัยนี้มีตัวแปรอะไรบ้าง และตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรก่อน แล้วจึงเขียนสมมติฐานที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในลักษณะที่เป็นข้อๆ ในภายหลัง

7.   ขอบเขตของการวิจัย
        เป็นการระบุให้ทราบว่าการวิจัยที่จะศึกษามีขอบข่ายกว้างขวางเพียงใด เนื่องจากผู้วิจัยไม่สามารถทำการศึกษาได้ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมของปัญหานั้น จึงต้องกำหนดขอบเขตของการศึกษาให้แน่นอน ว่าจะครอบคลุมอะไรบ้าง ซึ่งอาจทำได้โดยการกำหนดขอบเขตของเรื่องให้แคบลงเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งของสาขาวิชา หรือกำหนดกลุ่มประชากร สถานที่วิจัย หรือระยะเวลา

8.   การให้คำนิยามเชิงปฏิบัติที่จะใช้ในการวิจัย (operational definition)
      ในการวิจัย อาจมี ตัวแปร (variables) หรือคำ (terms) ศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องให้คำจำกัดความอย่างชัดเจน ในรูปที่สามารถสังเกต (observation) หรือวัด (measurement) ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจมีการแปลความหมายไปได้หลายทาง ตัวอย่างเช่น คำว่า คุณภาพชีวิต, ตัวแปรที่เกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ , ความพึงพอใจ, ความปวด เป็นต้น

9.   ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย(expected benefits and application)
        อธิบายถึงประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้จริง ในด้านวิชาการ เช่น จะเป็นการค้นพบทฤษฎีใหม่ซึ่งสนับสนุนหรือ คัดค้านทฤษฎีเดิม และประโยชน์ในเชิงประยุกต์ เช่น นำไปวางแผนและกำหนดนโยบายต่างๆ หรือประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อหาแนวทางพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นต้น โดยครอบคลุมทั้ง ผลในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งผลทางตรง และทางอ้อม และควรระบุในรายละเอียดว่า ผลดังกล่าว จะตกกับใคร เป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง เช่น โครงการวิจัยเรื่อง การฝึกอบรมอาสาสมัคร ระดับหมู่บ้าน ผลในระยะสั้น ก็อาจจะได้แก่ จำนวนอาสาสมัครผ่านการอบรมในโครงนี้ ส่วนผลกระทบ (impact) โดยตรง ในระยะยาว ก็อาจจะเป็น คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น ที่ดีขึ้น ส่วนผลทางอ้อม อาจจะได้แก่ การกระตุ้นให้ประชาชน ในชุมชนนั้น มีส่วนร่วม ในการพัฒนาหมู่บ้าน ของตนเอง

10. ระเบียบวิธีวิจัย (research methodology)
        เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยว่าแต่ละขั้นตอนจำทำอย่างไร  โดยทั่วไปเป็นการให้รายละเอียดในเรื่องต่อไปนี้ คือ
        10.1  วิธีวิจัย จะเลือกใช้วิธีวิจัยแบบใด เช่น จะใช้การวิจัยเอกสาร การวิจัยแบบทดลอง การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือจะใช้หลายๆ วิธีรวมกัน ซึ่งก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้วิธีอะไรบ้าง
        10.2  แหล่งข้อมูล จะเก็บข้อมูลจากแหล่งใดบ้าง เช่น จะเก็บข้อมูลทุติยภูมิ จากทะเบียนราษฎร์ สมุดสถิติรายปี สำมะโนประชากรและเคหะ ฯลฯ หรือจะเป็นข้อมูลปฐมภูมิ จากการสำรวจ การสนทนากลุ่ม การสังเกต การสัมภาษณ์ระดับลึก ฯลฯ เป็นต้น
        10.3  ประชากรที่จะศึกษา ระบุให้ชัดเจนว่าใครคือประชากรที่ต้องการศึกษา และกำหนดคุณลักษณะของประชากรที่จะศึกษาให้ชัดเจน เช่น เพศ อายุ สถานภาพสมรส ศาสนา เขตที่อยู่อาศัย บางครั้งประชากรที่ต้องการศึกษาอาจไม่ใช่ปัจเจกบุคคลก็ได้ เช่น อาจเป็นครัวเรือน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ฯลฯ ก็ได้
        10.4  วิธีการสุ่มตัวอย่าง ควรอธิบายว่าจะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใด ขนาดตัวอย่างมีจำนวนเท่าใด จะเก็บข้อมูลจากที่ไหน และจะเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างได้อย่างไร
        10.5  วิธีการเก็บข้อมูล ระบุว่าจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างไร มีการใช้เครื่องมือและทดสอบเครื่องมืออย่างไร เช่น จะใช้วิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ การสัมภาษณ์แบบมีแบบสอบถาม การสังเกต หรือการสนทนากลุ่ม เป็นต้น
        10.6  การประมวลผลข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ระบุการประมวลผลข้อมูลจะทำอย่างไร จะใช้เครื่องมืออะไรในการประมวลผลข้อมูล และในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือการทดสอบสมมติฐานจะทำอย่างไร จะใช้สถิติอะไรบ้างในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถตอบคำถามของการวิจัยที่ต้องการได้

11. ระยะเวลาในการดำเนินงาน
        ผู้วิจัยต้องระบุถึงระยะเวลาที่จะใช้ในการดำเนินงานวิจัยทั้งหมดว่าจะใช้เวลานานเท่าใด และต้องระบุระยะเวลาที่ใช้สำหรับแต่ละขั้นตอนของการวิจัย วิธีการเขียนรายละเอียดของหัวข้อนี้อาจทำได้ 2 แบบ ตามที่แสดงไว้ในตัวอย่างต่อไปนี้ (การวิจัยใช้เวลาดำเนินการ 12 เดือน)
        ตัวอย่างที่ 1
                  ก.   ขั้นตอนการเตรียมการ : ค้นหาชื่อเรื่องหรือปัญหาที่จะทำ (3 เดือน)
                         1. ศึกษาเอกสารและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                         2. ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ขออนุมัติดำเนินการ,ติดต่อผู้นำชุมชน,เตรียมชุมชน)
                             และรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น
                         3. สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                         4. จัดหาและฝึกอบรมผู้ช่วยนักวิจัย
                         5. ทดสอบและแก้ไขเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                  ข.   ขั้นตอนการเก็บข้อมูล (2 เดือน)
                         6. เลือกประชากรตัวอย่าง
                         7. สัมภาษณ์ประชากรตัวอย่าง
                  ค.   ขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (3 เดือน)
                         8. ลงรหัส ตรวจสอบรหัส นำข้อมูลเข้าเครื่อง  และทำการบรรณาธิการด้วยเครื่อง
                             คอมพิวเตอร์
                         9. เขียนโปรแกรมเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติต่างๆ ตามที่กำหนดไว้
                             รวมทั้งแปลผลข้อมูล
                  ง.   การเขียนรายงาน และการเผยแพร่ผลงาน (4 เดือน)
                         10.เขียนรายงานการวิจัย 3 เดือน
                         11.จัดพิมพ์ 1 เดือน

2.   งบประมาณ (budget)
        การกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัย ควรบ่างเป็นหมวดๆ ว่าแต่ละหมวดจะใช้งบประมาณเท่าใด การแบ่งหมวดค่าใช้จ่ายทำได้หลายวิธี ตัวอย่างหนึ่งของการแบ่งหมวด คือ แบ่งเป็น 8 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่
        12.1 เงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร
        12.2 ค่าใช้จ่ายสำหรับงานสนาม
        12.3 ค่าใช้จ่ายสำนักงาน
        12.4 ค่าครุภัณฑ์
        12.5 ค่าประมวลผลข้อมูล
        12.6 ค่าพิมพ์รายงาน
        12.7 ค่าจัดประชุมวิชาการ  เพื่อปรึกษาเรื่องการดำเนินงาน หรือเพื่อเสนอผลงานวิจัยเมื่อจบ
                  โครงการแล้ว
        12.8 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
        อย่างไรก็ตาม แหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยแต่ละแห่งอาจกำหนดรายละเอียดของการเขียนงบประมาณแตกต่างกัน  ผู้ที่จะขอทุนวิจัยจึงควรศึกษาวิธีการเขียนงบประมาณของแหล่งทุนที่ตนต้องการขอทุนสนับสนุน และควรทราบถึงยอดเงินงบประมาณสูงสุดต่อโครงการที่แหล่งทุนนั้นๆ จะให้การสนับสนุนด้วย  เนื่องจากถ้าผู้วิจัยตั้งงบประมาณไว้สูงเกินไป โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนก็จะมีน้อยมาก

13. เอกสารอ้างอิง (references) หรือ บรรณานุกรม (bibliography)
        ตอนสุดท้ายของโครงร่างการวิจัย  จะต้องมี เอกสารอ้างอิง หรือรายการอ้างอิง อันได้แก่ รายชื่อหนังสือ สิ่งพิมพ์อื่น ๆ โสตทัศนวัสดุ ตลอดจนวิธีการ ที่ได้ข้อมูลมา เพื่อประกอบ การเอกสารวิจัยเรื่องนั้น ๆ รายการอ้างอิง จะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง และก่อนภาคผนวก โดยรูปแบบที่ใช้ควรเป็นไปตามสากลนิยม เช่น Vancouver Style หรือ APA(American Psychological Association) style

14. ภาคผนวก (appendix)
        สิ่งที่นิยมเอาไว้ที่ภาคผนวก เช่น แบบสอบถาม แบบฟอร์มในการเก็บหรือบันทึกข้อมูล เมื่อภาคผนวก มีหลายภาค ให้ใช้เป็น ภาคผนวก ก ภาคผนวก ข ฯลฯ แต่ละภาคผนวก ให้ขึ้นหน้าใหม่

15. ประวัติของผู้ดำเนินการวิจัย (biography)
        ประวัติของผู้วิจัย เป็นข้อมูลที่ผู้ให้ทุนวิจัยมักจะใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนวิจัย ซึ่งถ้ามีผู้วิจัยหลายคนก็ต้องมีประวัติของผู้วิจัยที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ทุกคนซึ่งต้องระบุว่า ใครเป็นหัวหน้าโครงการ ใครเป็นผู้ร่วมโครงการในตำแหน่งใด และใครเป็นที่ปรึกษาโครงการ
        ประวัติผู้ดำเนินการวิจัย ควรประกอบด้วยประวัติส่วนตัว (เช่น อายุ เพศ การศึกษา) ประวัติการทำงาน และผลงานทางวิชาการต่างๆ
-------------------------------------------------

บรรณานุกรม

เทียนฉาย กีระนันทน์. (2547). สังคมศาสตร์วิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 2 ). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธวัชชัย วรพงศธร. (2538). หลักการวิจัยทางสาธารณสุขศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์
                        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิยม ปุราคำ. (2517). ทฤษฎีของการสำรวจสถิติจากตัวอย่างและการประยุกต์. กรุงเทพฯ: ศ.ส. การพิมพ์.
บุญเสริม วีสกุล. (2517). สถิติตอนที่ 1 : วิธีเก็บและประมวลผลข้อมูล. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พจน์ สะเพียรชัย. (2516). หลักเบื้องต้นสำหรับการวิจัยทางการศึกษา เล่ม 1. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยวิชาการศึกษา        ประสานมิตร
พวงรัตน์ ทวีรัตน์. (2538). วิธีการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 6 ). กรุงเทพฯ:
ภิรมย์ กมลรัตนกุล.(2547).หลักการวิจัยทางการแพทย์.(ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา
                        โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (25 พฤศจิกายน 2547)
สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2538). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ:
                        สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

Ackoff, R. L. (1953). The design of social research. Chicago: The University of Chicago Press.
Babbie, E. (1986). The practice of social research. (4th ed.). Belmont, CA: Wadsworth Publishing.
Baker, T. L. (1994). Doing social research (2nd ed.). Singapore: McGraw-Hill, Inc.
Blalock, H. M. (1972). Social statistics. (2nd ed.). Tokyo: Tosho Printing Co., Ltd.
Hoinville, G., & Jowell, R. (1978). Survey research practice. London: Heinemann Educational Books Ltd.
Moser, C.A., & Kalton, G. (1997). Survey methods in social investigation. (2nd ed.). London: Heinemann Educational Books Ltd


ที่มา: คณะกรรมการฝึกอบรมและสอบ ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แห่งประเทศไทย