วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)



วันนี้บุคลากรด้านการศึกษาครูอาจารย์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งได้ให้ความสำคัญกับปีพุทธศักราช 2558 หรืออีกสีปีข้างหน้าเป็นอย่างยิ่ง หลายๆสถาบันได้มีการจัดกิจกรรมในหลากหลายกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้กับครูอาจารย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมาคมประชาคมแห่งชาติเอเชียตะวันตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพยายามสร้างจิตสำนึกของความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เพื่อเตรียมการรองรับการขยายตัวของกลุ่มอาเซียนที่จะมีความสัมพันธ์ในภูมิภาคในทุกมิติ
ประชาคมอาเซียนถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 หลังจากการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนก็มีความคืบหน้าที่ดี และในที่สุดอาเซียนได้มุ่งหวังที่จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจในปี 2558 ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกันโดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรีและเงินลงทุนที่เสรีมากขั้น มีความสามารถในการแข่งขันสูง มุ่งสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน และการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก
หากจะมองบทบาทที่สำคัญด้านการศึกษาใน เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมอาเซียนจะสนับสนุนความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องกฎบัตรอาเซียนให้มากขึ้นผ่านหลักสูตรอาเซียนในโรงเรียน และเผยแพร่กฎบัตรอาเซียนให้ทุกๆประเทศได้ทราบ ทั้งนี้จะเน้นในหลักการประชาธิปไตยของประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น เคารพในสิทธิมนุษยชนและค่านิยมในเรื่องแนวทางสันติภาพในหลักสูตรของโรงเรียน ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อในภูมิภาคในหมูอาจารย์ผ่านการอบรมโครงการแลกเปลี่ยน และจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานออนไลน์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน จัดให้มีการประชุมผู้นำโรงเรียน (Southeast Asia School Principals’ Forum: SEA-SPF) อย่างสม่ำเสมอ
การศึกษากับเสาหลักด้านเศรษฐกิจ ประชาคมอาเซียนจะสนับสนุนการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงานในถูมิภาคอาเซียน โดยผ่านกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาคดำเนินการควบคู่ไปกับความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานด้านการศึกษาและวิชาชีพบนพื้นฐานของความสามารถในภูมิภาค และสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
บทบาทการศึกษากับเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม ประชาคมจะสนับสนุนให้มีหลักสูตรปริญญาด้านศิลปวัฒนธรรมธรรมอาเซียนในมหาวิทยาลัย และให้ภาษาของอาเซียนเป็นภาษาต่างชาติวิชาเลือกในระดับโรงเรียน รวมถึงมีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของโรงเรียนในกลุ่มอาเซียน และเครือข่ายมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิจัยของประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นวิจัยของภูมิภาคมากขึ้น
วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวไทยจะต้องพัฒนาตนเองในการเรียนรู้เพื่อนบ้าน และให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาไทย หรือสามารถใช้ภาษาเพื่อทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน มีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน แสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน มีเพื่อนและเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน วันนี้ต้องถามว่าเราพร้อมหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่แคบลงทุกวันใบนี้  


อ้างอิง
http://old.asean.or.jp/eng/general/publish/index.html
http://th.wikipedia.org

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จับตามองทิศทางและนโยบาย รมว. ศึกษาธิการ


ในช่วงสองสามสัปดาห์ต่อจากนี้ไป ต้องจับตาดูทิศทางและนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ของนายกรัฐนมตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการของวงการศึกษาไทย จากนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยจนนำไปสู่การชนะการเลือกตั้ง และนำนโยบายจากการหาเสียงมาปฏิบัติต้องยอมรับว่าน่าจับตามองที่เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาที่เป็นที่วิภาควิจารณ์ของคนในวงกว้างของสังคม
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ผู้ที่ได้รับพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์มติชน ถึงแนวนโยบายหลังรับตำแหน่งที่จะไปแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคม ประมวลได้ดังนี้
ประการแรก คือการปรับปรุงความรู้ให้สัมพันธ์กัน 3 ส่วน คือความต้องการของตลาดแรงงาน หรือสิ่งที่ผู้เรียนอยากได้ องค์ความรู้ระดับอุดมศึกษา และการศึกษาสายอาชีวศึกษา ต้องเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศ ต้องดูความอัจฉริยภาพของเด็กแต่ละคนให้เรียนตามความถนัดมากขึ้น
ประการที่สอง หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องปรับเปลี่ยนให้นักเรียนให้ความสนใจในการเรียนการสอนมากขึ้น และเมื่อมีการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแล้ว จะนำมาประกอบการเรียนการสอนในชั้นเรียนเกิดความสนใจยิ่งขึ้น เรื่องแท็บเล็ตจะแปลงส่วนงบประมาณการศึกษาเรียนฟรี 5 ปีอย่างมีคุณภาพในส่วนของหนังสือที่ซื้อแจกนักเรียนมาใช้ ในขณะที่ผู้รับแจกจะพิจารณาจากความพร้อมทั้งของตัวนักเรียนและสถานศึกษาแต่ละส่วนว่าจะแจกในส่วนไหน การจะยกเลิกซื้อหนังสือคงไม่ยกเลิกทั้งหมด และนำเนื้อหาในหนังสือเรียนมาบรรจุในแท็บเล็ต
            ประการต่อมา การศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมงานวิจัย เน้นการวิจัยพื้นฐาน 30% เน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศชาติ70% และเมื่อมีงานวิจัยออกมามากจะต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ให้กับมหาวิทยาลัย นายวรวัจน์ เน้นย้ำกับถึงการปฏิรูปการศึกษาว่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือองค์ความรู้ที่จะต้องมาดำเนินการกันต่อไป ทั้งยังตระหนักในการยอมรับของสังคมกับการดำรงตำแหน่งของตน จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนข้าราชการนั้นต้องจับเข่าคุยกันว่า เราจะต้องพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศชาติ ดังนั้นการจัดการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับระบบของประเทศ
            ตามคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนใหม่สิ่งที่เป็นนโยบายสำคัญคือการแจกแท็บแล็ต ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายที่โดดเด่นของพรรครัฐบาลเพื่อไทย แต่จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการการศึกษาไทย หรือจะเป็นเพียงนโยบายขายฝันดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับนโยบายรัฐบาลในสมัยอดีตที่เคยมีการแจกคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนทุกเรียน แต่บางโรงเรียนก็ไม่ได้ใช้เนื่องจากโรงเรียนไม่มีกระแสไฟ หรือบางโรงเรียนเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เฉพาะห้องครูใหญ่ หรือบางโรงเรียนหลายปีผ่านไปก็ยังไม่ได้แกะกล่อง เป็นที่จับตาดูกันจากนี้ไปการนำพาประเทศเข้าสู่สังคมอาเซียน มีการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนนักศึกษาตลอดจนครูอาจารย์อย่างไร นโยบายด้านการศึกษาจะเร่งรัดเรื่องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ทันสมัยกับการก้าวหน้าของโลกอย่างไร ภาษาและคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในยุคนี้ขนาดไหน เด็กไทยเราจะถูกจัดอันดับความฉลาดที่เท่าไรของเอเชียหรือของโลก นโยบายนี้จะเป็นประโยชน์หรือจะเกิดโทษต่อสังคมไทย เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง




วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ


ผมไปสะดุดตากับหนังสือลดราคาขายถูกเล่มหนึ่งชื่อ คู่มือปฐมพยาบาลด้านจิตใจ (Psychological First Aid and Human Support) โดยมี นายแพทย์มาโนช มุกาตี เป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ได้รับความร่วมมือจากสภากาชาดเดนมาร์ก ผมนึกอย่างเร็วๆว่าหากวันหนึ่งเราจำเป็นต้องปฐมพยาบาลด้านจิตใจให้กับผู้ที่ประสบปัญหาวิกฤติ เราจะมีความรู้พื้นฐานอะไรที่จะไปช่วยบำบัดความเจ็บปวดด้านจิตใจของเขาเหล่านั้น และอะไรจะทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้องตามหลักการการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
            การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ เป็นเรื่องของการช่วยเหลือให้กำลังใจแก่ทุกชีวิต ที่ประสบปัญหาโดยเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นเพื่อน เพื่อเสริมสร้างให้เขารู้สึกมีความหวังและมีที่ยึดเหนี่ยว การช่วยเหลือไม่ใช่แค่เพียงต้องมีความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันด้วย มีงานวิจัยที่แสดงว่ามนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความสำคัญมากในกระบวนการฟื้นฟูจิตใจให้พ้นวิกฤตร้ายแรงได้ การปฐมพยาบาลด้านจิตใจแม้จะดูว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าสมควรจะทำอย่างไรเมื่อเราพบผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยมีหลักการดังนี้
1.      การช่วยเหลือให้กำลังใจ
             เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเสนอความช่วยเหลือให้กับผู้ทุกข์ยาก ในสถานการณ์ที่เราคิดว่าเราจะมีประโยชน์ แต่บางครั้งความไม่สนิทสนมอย่างเพียงพอ หรือความสงสัยของเราว่าเราได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า และเนื่องจากเราเองก็อยู่ในภาวะเครียด ท้ายสุดอาจจะรู้สึกลำบากใจ และกระวนกระวายใจ แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพคือการได้รับการให้กำลังใจจากบุคคลที่ไม่คาดฝัน ผู้รับเคราะห์กรรมมักจะมองข้ามความเป็นจริงเมื่อเผชิญกับภาวะที่ผิดปกติ ในระยะพักฟื้นการมีความสัมพันธ์กับคนอื่นจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครือขายสังคมธรรมชาติรอบตัว (Natural social network)
2.       การมีความรู้สึกร่วม (empathy)
การพยายามที่จะเข้าใจประสบการณ์ความเจ็บปวดของผู้เคราะห์ร้าย ผู้ช่วยเหลือควรตั้งใจฟังเขาพูด ฟังสิ่งที่เขาพูและสังเกตวิธีการพูดของเขา เรามักจะเข้าใจภาษากายของผู้เคราะห์ร้ายได้โดยสัญชาติญาณ
3.      จะให้ความช่วยเหลืออย่างไร
ภาวะช็อก อาจช่วยปกป้องเราจากการรับรู้ความจริงที่ไม่อยากจะยอมรับ มีความสำคัญมาก ที่จะแสดงความเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายในระหว่างช็อกและหลังจากนั้น เพื่อช่วยให้เขาสามารถใช้พลังงานที่เหลือต่อสู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
4.      ผู้เคราะห์ร้ายต้องการทราบข้อมูลชนิดไหน
          การรับรู้สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมีความสำคัญมากต่อผู้เคราะห์ร้าย เมื่อเขาไดรับรายละเอียดทั้งหมดจะทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์อย่างดีขึ้น และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ถ้าเขาได้รับแต่ความคลุมเครือจะทำให้เกิดอาการกังวล
5.      ทำไมการช่วยเหลือที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญ
การจัดการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายที่กำลังกลัวหรือสับสนมีความสำคัญ การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์และแสดงการเอาใจใส่
6.      การแสดงความสนใจด้วยความเคารพ
เราควรจะแสดงความสนใจโดยแสดงความจริงใจอย่างเปิดเผยต่อผู้เคราะห์ร้าย ฟังเรื่องราวที่เขาเล่าถึงแม้จะได้ยินมาแล้วหลายครั้ง หรือแม้เรื่องที่เรานั้นอาจแตกต่างไปจากเดิม ผู้รับเคราะห์อาจจะไม่สามารถเผชิญกับเรื่องเดิมที่เขาไม่ชอบ หรือเผชิญกับเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในใจ
7.      การสื่อสาร การฟังอย่างตั้งใจ
ถ้าผู้ประสบเคราะห์ต้องการที่จะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ช่วยเหลือควรพูดคุยกับเขา อย่าพยายามลดความรุนแรง หรือแต่งเติมเรื่องราว หรือดึงความสนใจเขาออกมาจากเรื่องนั้น ผู้รับเคราะห์จะเล่าเหตุการณ์วิกฤติผ่านและประสบการณ์ของเขา หลังจากนั้นเขาจะลดอาการกังวลลง
8.      ความหมายความและความสำคัญของพิธีการต่างๆ
วิกฤติบางอย่างอาจหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่จะรับมือตามลำพัง จำเป็นต้องใช้ประเพณีและพิธีการตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นเข้าช่วย ในทุกชาติจะมีประเพณี วัฒนธรรมของตนเองเกี่ยวกับชีวิตและความตาย พิธีการจะเหมือนสัญญาลักษณ์และช่วยให้บุคคล หรือหมูคณะที่ประสบภาวะวิกฤติผ่านพ้นไปด้วยดี
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน โดยส่วนแรกจะให้ภาพการพัฒนาความช่วยเหลือด้านจิตใจ ส่วนที่สองจะอาศัยพื้นฐานงานวิจัยของการให้กำลังใจ โดยกรองวิธีพูดของผู้เชียวชาญมาเป็นกระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และส่วนที่สามการช่วยเหลืออย่างมืออาชีพเข้ามาช่วย โดยมีวิธีการต่างๆเพื่อให้การช่วยเหลือครอบคุมขณะเกิดภาวะวิกฤติ กล่าวโดยสรุปแล้วเมื่อเหตุการณ์ไม่ว่าจะประสบปัญหาวิกฤติ ประสบภัยพิบัติหรือภาวะเครียดจากเหตุการณ์ภายนอก หรือสูญเสียสิ่งที่สำคัญบางอย่าง ที่มีผลกระเทือนจิตใจของผู้เคราะห์ร้ายอย่างรุนแรง กำลังใจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ดังนั้นในหลักสูตรการศึกษาของสังคมไทยควรมีสาระการเรียนรู้ของการปฐมพยาบาลด้านจิตใจต่อมนุษย์แบบถูกวิธี อาจจะทำผู้เคราะห์ร้าย พ้นภาวะ วิกฤติ กังวล เครียด เพราะการให้กำลังใจที่ดีจะทำให้ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้ประสบเคราะห์กรรมประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาและช่วยใช้ชีวิตเป็นปกติสุขร่วมกัน 

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หลักสูตรเหมือนกล้วย



ตอบโจทย์อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุเทพ อ่วมเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้บรรยายวิชา กลยุทธการพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Development Strategies and Implementation) ที่ว่า ถ้ามองหลักสูตรเหมือนผลไม้ชนิดหนึ่งเราจะมองหลักสูตรเหมือนผลไม้ชนิดใด
มีผู้ที่พยายามจะให้คำนำยามของคำว่าหลักสูตร (Curriculum)ไว้ในหลายมิตินักการศึกษาบางคนให้นิยามของหลักสูตรในลักษณะของเนื้อหาวิชา บ้างก็มองหลังสูตรว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ก่อนที่จะมีการสอน หลักสูตรเป็นสือกลางที่จะนำไปสู่จุดหมาย บ้างก็ว่าเป็นกิจกรรมให้กับนักศึกษา บ้างก็มองหลักสูตรในลักษณะกระบวนการปะทะสังสรรค์ระหว่างนักเรียนกับครู และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ดร. สงัด อุทรานันท์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือทฤษฏีหลักสูตรว่า ศาสตร์สาขาหลักสูตรเป็นส่วนหนึ่งของศึกษาศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ประยุกต์โดยอาศัยแนวคิดและทฤษฏีจากศาสตร์สาขาต่างๆมาผสมผสานกัน
ย้อนกลับไปที่โจทย์ข้างต้นทำให้มองหลักสูตรเหมือนกล้วย สำหรับคนไทยเรา ดูเหมือนว่า กล้วยจะเป็นพืชสารพัดประโยชน์  รากกล้วยใช้ทำยาได้  ลำต้นใช้ทำฐานกระทง  ใบกล้วยที่เรียกว่า ใบตอง  ก็ใช้ห่อของ ทำจีบกระทง  ห่อขนมสารพัดชนิด  ไส้ในของกล้วยก็นิยมเอามาทำแกง  ผลกล้วยใช้ทำทั้งของหวานและอาหารนานาชนิด  โดยเฉพาะข้าวต้มมัด  ปลีหรือดอกกล้วยก็สามารถนำเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริกและใส่แกง ฯลฯ ด้วยกล้วยอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุคโทส และ กลูโคส รวมกับเส้นใยและกากอาหาร กล้วยจะช่วยเสริมเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายทันทีทันใด จากงานวิจัยพบว่ากินกล้วยแค่ 2 ผล ก็สามารถเพิ่มพลังงานให้อย่างเพียงพอ กับการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ได้นานถึง 90 นาที ประโยชน์ของกล้วยไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มพลังงานเท่านั้น ยังช่วยเอาชนะ และป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดกับร่างกายได้อีกหลายโรคพอสรุปดังนี้
1. โรคโลหิตจาง ในกล้วยมีธาตุเหล็กสูงจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และจะช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลัง หรือภาวะโลหิตจาง
2. โรคความดันโลหิตสูง มีธาตุโปรแตสเซียมสูงสุด แต่มีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่จะช่วยความดันโลหิตมาก อย.ของอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมการปลูกกล้วยสามารถ โฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันโลหิตหรือโรคเส้นเลือดฝอยแตก
3. กำลังสมอง มีงานวิจัยในกลุ่มนักเรียน 200 คน โรงเรียน Twickenham พบว่ากินกล้วยมื้ออาหารเช้า ตอนพัก และมื้ออาหารกลางวันทุกวัน เพื่อช่วยส่งเสริมกำลังของสมองในพวกเขา ได้รับผลดีจากการสอบตลอดปี ด้วยการจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าปริมาณโปรแตสเซียมที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในกล้วยสามารถให้นักเรียนมีการตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น
4. โรคท้องผูก ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ และยังช่วยแก้ปัญหาโรคท้องผูกโดยไม่ต้องกินยาถ่ายเลย
5. โรคความซึมเศร้า จากการสำรวจ ในจำนวนผู้ที่มีความทุกข์เกิดจากความซึมเศร้าหลายคนจะมี ความรู้สึกที่ดีขึ้นมากหลังการกินกล้วย เพราะมีโปรตีนชนิดที่เรียกว่า Try Potophan เมื่อสารนี้เข้าไปในร่างกายจะ ถูกเปลี่ยนเป็น Rerotonin เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นตัวผ่อนคลายปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ คือทำให้เรารู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นนั่นเอง
6. อาการเมาค้าง วิธีที่เร็วที่สุดที่จะแก้อาการเมาค้าง คือ การดื่มกล้วยปั่นกับนมและน้ำผึ้ง กล้วยจะทำให้ กระเพาะของเราสงบลง ส่วนน้ำผึ้งจะเป็นตัวช่วยหนุนเสริมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดที่หมดไปในขณะที่นมก็ช่วย ปรับระดับของเหลวในร่างกายของเรา
 7. อาการเสียดท้อง กล้วยมีสารลดกรดตามธรรมชาติที่มีผลต่อร่างกายของเรา ถ้าปัญหาเกี่ยวกับอาการเสียด ท้อง ลองกินกล้วยสักผล คุณจะรู้สึกผ่อนคลายจากอาการเสียดท้องได้
8. ความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า การกินกล้วยเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร จะรักษาระดับน้ำตาลในเส้นเลือดให้คงที่ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า
9. ยุงกัด ก่อนใช้ครีมทาแก้ยุงกัด ลองใช้ด้านในของเปลือกกล้วยทาบริเวณที่ถูกยุงกัด มีหลายคนพบอย่างมหัศจรรย์ว่า เปลือกกล้วยสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้
10. ระบบประสาท วิธีควบคุมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด ด้วยการกินอาหารว่างที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างทุก 2 ชั่วโมง เพื่อรักษาปริมาณน้ำตาลให้คงที่ตลอดเวลา การกินกล้วยที่มีวิตามินบี 6 ซึ่งประกอบด้วยสารควบคุมระดับกลูโคสที่สามารถมีผลต่ออารมณ์ ช่วยทำให้ระบบประสาทสงบลงได้
11. โรคลำไส้เป็นแผล กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุม เพื่อต้านทานการเกิดโรคลำไส้เป็นแผล เพราะเนื้อของกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี เป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ทานได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคลำไส้เรื้อรัง และกล้วยยังมีสภาพเป็นกลางไม่เป็นกรด ทำให้ลดการระคายเคือง และยังไปเคลือบผนังลำไส้และกระเพาะอาหารด้วย
12. การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ในวัฒนธรรมของหลายแห่งเห็นว่ากล้วย คือผลไม้ที่สามารถทำให้ อุณหภูมิเย็นลงได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอุณหภูมิของอารมณ์ของคนที่เป็นแม่ที่ชอบคาดหวัง ตัวอย่างในประเทศไทย จะให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์รับประทานกล้วยทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่า ทารกที่เกิดมา จะมีอุณหภูมิเย็น
13. ความสับสนของอารมณ์เป็นครั้งคราว กล้วยสามารถช่วยในเรื่องของอารมณ์และความสับสนได้ เพราะในกล้วยมีสารตามธรรมชาติ Try Potophan ทำให้อารมณ์ดี
14. การสูบบุหรี่ กล้วยสามารถช่วยคนที่กำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากในกล้วยมีปริมาณของวิตามินซี เอ บี6 และบี 12 ที่สูงมาก และยังมีโปรแตสเซียมกับแมกนีเซียม ที่ช่วยทำให้ร่างกายฟื้นคืนตัวได้เร็วอันเป็นผล จากการลดเลิกนิโคตินนั่นเอง
15. ความเครียด โปรแตสเซียมเป็นสารอาหารสำคัญ ที่ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ การส่งออกซิเจน ไปยังสมอง และปรับระดับน้ำในร่างกาย เวลาเกิดอารมณ์เครียด อัตรา metabolic ในร่างกายของเราจะขึ้นสูง และทำให้ระดับโปรแตสเซียมในร่างกายของเราลดลง แต่โปรแตสเซียมที่มีอยู่สูงมากในกล้วยจะช่วยให้เกิด ความสมดุล
16. เส้นเลือดฝอยแตก จากการวิจัยที่ลงในวารสาร "The New England Journal of Medicine" การกินกล้วยเป็นประจำสามารถลดอันตรายที่เกิดกับเส้นโลหิตแตกได้ถึง 40%
17. โรคหูด การรักษาหูดด้วยวิธีทางเลือกแบบธรรมชาติ โดยการใช้เปลือกของกล้วยวางปิดลงไปบนหูด แล้วใช้แผ่นปิดแผลหรือเทปติดไว้ให้ด้านสีเหลืองของเปลือกกล้วยออกด้านนอก ก็จะสามารถรักษาโรคหูดให้หายได้
ดังนั้นหลักสูตรเมื่อผ่านกระบวนการออกแบบก่อนจะนำไปใช้ต้องเป็นหลักสูตรที่เป็นประโยชน์รักษาโรคร้ายคืออวิชชาของผู้เรียนได้ และต้องเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานการใช้ได้จริงมีประโยชน์ในทุกบริบทของการเรียนการสอน เปรียบได้เหมือนกันกับกล้วยทั้งอิ่มดีมีประโยชน์ต่อรางกายในทุกมิติ


อ้างอิง


วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Mastery Learning

                                                    Skinner (1953) นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมนิยม
                                                   ฺำืBenjamin Bloom (1971)


                                                John B. Carroll (1971)
วันนี้ได้ไปอ่านเรื่อง Mastery Learning และProgrammed Instruction ในหนังสือชื่อ Models of Teaching ของ Bruce Joyce Marsha Weil and Emily Calhoun ผมแปลเป็นภาษาไทยว่า การจัดการเรียนการสอนแบบรู้จริง กับการจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูป โดยสรุปคือ
Mastery Learning ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์อย่างละเอียด วางแผนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนแต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่มชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้และกฎระเบียบต่างๆ ผู้เรียนดำเนินการเรียนรู้ตามแผนที่ผู้สอนจัดไว้และมีการประเมินผลตามวัตถุประสงค์โดยผู้สอนให้คำปรึกษาและชี้แนะ ถ้าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้แล้ว ให้ผู้เรียนไปเรียนรู้ในเรื่อง หรือวัตถุประสงค์ถัดไป หากผู้เรียนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ให้จัดสอนซ่อมเสริมจนกระทั่งนักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ ระยะเวลาในการเรียนรู้ของผู้เรียนแตกต่างกันตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ผู้สอนต้องมีการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยเก็บข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะนำข้อมูลไปวางแผนในการสอนครั้งต่อไป
Programmed Instruction ผู้สอนจะต้องวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้เรียนในการเรียนรู้ส่วนต่างๆสร้างบทเรียนสำเร็จรูปที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน และชี้แจงวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ และวิธีใช้บทเรียนให้ผู้เรียนเข้าใจผู้เรียนดำเนินการศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง โดยครูให้คำปรึกษาแนะนำตามความเหมาะสมทำแบบทดสอบประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้สอนเก็บข้อมูลของผู้เรียนเพื่อการประเมิน
            กล่าวโดยสรุปคือความรู้ในสิ่งต่างๆ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าการที่มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มความสามารถซึ่งหากได้รับการส่งเสริมแบบถูกวิธี ดังนั้นรูปแบบการจัดการด้านการเรียนการสอนหรือหลักสูตรต้องนำไปปฏิบัติได้ โดยมีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนจนรอบรู้ได้ ถ้ามีเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้เท่าที่ต้องการ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียนรู้เพื่อรอบรู้ Mastery Learning
            ผมอ่านบทนี้แล้วนึกย้อนกลับไปในงานเขียนของศ.นพ.ประเวศ วะสี เรื่องระบบการศึกษา ที่แก้ปัญหาความทุกข์ยากของแผ่นดิน จัดพิมพ์โดยศูนย์จิตปัญญาศึกษา และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ผมอ้างถึงมาสองสามครั้งแล้ว ท่านพูดในตอนหนึ่งว่าถ้าปลุกคนขายก๋วยเตี๋ยวให้มาสอนทำก๋วยเตี๋ยวตอนดึกเขาสามารถสอนได้เลย เพราะเขาเรียนรู้แบบรู้จริงรอบรู้ในเรี่ยงที่ตัวเองถนัด แต่ถ้าวันนี้ปลุกครูให้มาสอนบางทีครูอาจจะสอนไม่ได้ อาจจะต้องขอเวลาเตรียมสอนเพราะไม่ได้เรียนรู้อย่างรอบรู้แต่เป็นการเรียนรู้อย่างท่องจำโดยขาดความรอบรู้และรู้จริง ในอาทิตย์ขอเสนอแนวความคิดไว้เท่านี้ครับ 

Education for all


ผมได้อ่านหนังสือของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรื่องระบบการศึกษา ที่แก้ปัญหาความทุกข์ยากของแผ่นดิน จัดพิมพ์โดยศูนย์จิตปัญญาศึกษา และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล การศึกษาสำหรับคนทั้งมวล (Education for All) ทั้งมวลเพื่อการศึกษา (All for Education) การศึกษารักษาทุกโรค (Education Cure All) ท่านได้พูดถึงการจัดการศึกษาสมัยใหม่อยู่ในลักษณะต่อท่อจากยุโรปมาไทย ประเทศเราสมัยรัชกาลที่ 5 เราไม่มีองค์ความรู้ที่จะพัฒนาประเทศเพื่อป้องกันจากการคลุกคามของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งประเทศยุโรปในสมัยนั้นมีความรู้ ความเจริญ มีอำนาจ สยามประเทศยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นการไปต่อท่อเอามาสรรพสิ่งจากยุโรป เหมือนท่อน้ำเพื่อนำน้ำมาสู่พื้นที่แห้งแล้ง การต่อท่อความรู้เป็นลักษณะของการศึกษาไทยมาจนวันนี้ ทำให้ตัดรากเหง้าของตัวเองจนเกิดวิกฤตไปทุกด้าน เพราะวิธีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกันกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า การศึกษาต่อท่อนี้ทำให้ต้องอาศัยตำราเป็นสื่อไม่ว่าจะเป็นภาษายุโรปหรือภาษาไทยก็ตาม ทำให้การศึกษาของสังคมไทยกลายเป็นการศึกษาแบบท่องตำรา เป็นวิสัยทัศน์ที่ครอบครองพื้นแผ่นดินไทยมาโดยตลอด เป็นระบบการศึกษาที่ก่อความทุกข์ยากให้คนทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็ออกจากความทุกข์ยากไม่ได้ เราต้องค่อยๆทำความเข้าใจเป็นลำดับ เป็นต้น
            สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ท่านให้มองการระบบการเรียนรู้ว่ามีสามประการ คือ จิตตปัญญาศึกษา (รู้แจ้ง) กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (คิดเป็น) ฐานวัฒนธรรม (ทำเป็น) ในการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อการคิดเป็นผมเห็นว่าน่าสนใจ มีขั้นตอน 10 ขั้นตอน ดังนี้
1.      ฝึกสังเกต ใครสังเกตดีก็จะเป็นฐานของการรับรู้ที่ดี
2.      ฝึกบันทึก ฝึกนิสัยและทักษะที่คนไทยขาดยากมาก
3.      ฝึกการนำเสนอ การนำเสนอที่ดีเป็นกระบวนการทางปัญญา
4.      ฝึกการฟัง การฟังที่ดีทำให้เกิดปัญญา (สุตมยปัญญา)
5.      ฝึกปุจฉาวิปัสสนา เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
6.      ฝึกการตั้งสมมุติฐาน และคำถามที่ดี
7.      ฝึกการค้นหาคำตอบ จากแห่งความรู้ทุกชนิดรวมทั้งความรู้ในตัวคน
8.      ถ้าไม่พบคำตอบแสดงว่าไม่มีความรู้นั้นอยู่ในโลก แต่คำถามนั้นยังอยู่และมีความสำคัญ ก็ต้องทำการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่
9.   เมื่อได้ความรู้มาแล้ว ต้องหัดเชื่อมโยงบูรณาการให้เข้าใจทั้งหมด ความรู้ก็จะกลายเป็นปัญญา ไม่เป็นความรู้แบบแยกส่วน
10.  หัดเขียนเรื่องราวทั้งหมดให้ได้ดี การเขียนให้ได้ดีเป็นกระบวนการทางปัญญา และเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ    
โดยท่านให้ข้อสรุปว่าถ้าทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 10 ข้อนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้รู้ลึก ท่านได้เชื่อมโยงความเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบกว้างๆ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่ใช้ผลเข้าไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้สิ่งที่รับรู้กลายเป็นความรู้ที่คมชัดและลึก ดังนั้นในความเข้าใจของผมการที่เรารู้ลึก โดยใช้กระบวนการทางปัญญาถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดก็จะเป็นประโยชน์

ระบบการศึกษา ที่แก้ปัญหาความทุกข์ยากของแผ่นดิน


ในสัปดาห์นี้ผมก็ยังจะพูดถึงหนังสือของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรื่องระบบการศึกษา ที่แก้ปัญหาความทุกข์ยากของแผ่นดิน จัดพิมพ์โดยศูนย์จิตปัญญาศึกษา และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านได้กล่าวถึงการศึกษาแบบต่อท่อเอาสรรพสิ่งจากยุโรป เหมือนท่อน้ำเพื่อนำน้ำมาสู่พื้นที่แห้งแล้ง การต่อท่อความรู้เป็นลักษณะของการศึกษาไทยมาจนวันนี้ ทำให้ตัดรากเหง้าของตัวเองจนเกิดวิกฤตไปทุกด้าน เพราะวิธีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกันกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า การศึกษาต่อท่อนี้ทำให้ต้องอาศัยตำราเป็นสื่อไม่ว่าจะเป็นภาษายุโรปหรือภาษาไทยก็ตาม ทำให้การศึกษาของสังคมไทยกลายเป็นการศึกษาแบบท่องตำรา เป็นต้น
            แนวคิดการศึกษาไทยสมัยใหม่ว่าคือการต่อท่อความรู้จากยุโรปมีผลอย่างมากับสังคมไทย 8 ประการ ดังต่อไปนี้
1. การศึกษาเป็นการศึกษาตัดแปะความรู้มาจากภายนอกไม่ใช่ระเบิดพลังแห่งการเรียนรู้จากภายใน
ด้วยความเป็นการศึกษาแบบตัดแปะความรู้จึงทำให้คนไทยมีความรู้แบบผิวเผินขาดการเชื่อมโยงกับรากฐานของตัวเอง ทำให้คนไทยไม่เข้าใจตัวเองและขาดความรู้ที่ลึกซึ้งในระดับสากล
2. เกิดการศึกษาที่เอาวิชาในตำราเป็นตัวตั้ง
ความรู้จากต่างประเทศมาในรูปแบบของตำรา ทำให้การศึกษาไทยกลายเป็นการท่องหนังสือหรือการถ่ายทอดจากหนังสือเป็นสำคัญเรียนรู้แบบแยกส่วนวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่เอาชีวิตและสังคมเป็นตัวตั้ง
3.      เพิ่มการขาดศีลธรรมพื้นฐานทางสังคม
ด้วยการที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง คนส่วนใหญ่จึงไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรี นักเรียนเมื่อเข้าเรียนจึงทำให้รู้สึกว่าสถาบันของเรามีเกียรติ ชาวบ้านเป็นคนไร้เกียรติทำให้ขาดความเคารพนับถือคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ เมื่อขาดศีลธรรมเสียแล้วสิ่งต่างๆก็เกิดขึ้นยาก
4.      ทำให้ขาดครูดีในโรงเรียน
ขาดครูดี เพราะครูส่วนใหญ่ติดกับตำรา ตัวอย่างเช่นถ้าปลุกคนขายก๊วยเตี๋ยวมาสอนให้มาสอนทำก๊วยเตี๋ยวในเวลากลางคืนเขายอมสอนได้ แต่ถ้าปลุกครูมาสอนในเวลากลางคืนอาจจะต้องขอเวลาเตรียมสอน เพราะเก่งท่องจำความรู้ในตำราเมื่อการศึกษาเน้นที่การเรียนจากความรู้ในตำราจึงขาดแคลนครูดี
5.      สร้างมายาคติในระบบคูณค่า
เราได้สร้างระบบค่านิยมที่คับแคบ การเป็นคนดีมีค่ายิ่งกว่าการมีการศึกษาดี เพราะอาจจะเห็นว่าเด็กฆ่าตัวตายเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ มายาคติบีบคั้นคนทั้งสังคมทำให้ทุกข์ เครียด ไม่ภูมิใจในตัวเอง
6.      ทำให้การเรียนรู้เป็นความทุกข์
การเรียนแบบท่องจำทำให้คนไทยขาดการวิเคราะห์สิ่งที่รับรู้ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้องมีวิจารณญาณ คนไทยจึงขาดวิจารณญาณ เพราะการศึกษาแบบนี้นำไปสู่การล้างสมองด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจ
7.      ขาดการเห็นคุณค่าของการทำงาน
การศึกษาที่สร้างคนหยิบโหย่งรังเกียดสายอาชีพทำงานก็ไม่เป็นสร้างความรู้ก็ไม่เป็น จบการศึกษาแต่ทำงานไม่เป็น ไม่มีความอดทน ไม่มีความรับผิดชอบขาดการเห็นคุณค่าของการทำงาน
8.      ระบบ top down บอนไซการเรียนรู้
เน้นการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง กำหนดกรอบตัวชี้วัดลงไป จำกัดความคิด การปฏิบัติ การริเริ่มให้คับแคบเหมือนการบอนไซ เน้นการสั่งการ กำหนดกรอบ ตัวชี้วัด ปิดจินตนาการ ปิดความริเริ่มอย่างหลากหลายตามธรรมชาติของผู้คน จึงบอนไวการเรียนรู้ บอนไซประเทศ
ผลเสียของแนวคิดการศึกษาแบบต่อท่อความรู้ก่อให้เกิดความทุกข์ยากของคนไทย ทั้งโดยตรงต่อผู้เรียนและพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งโดยอ้อมเกิดความล้มเหลวของประเทศจากคนค้อยคุณภาพ และมีทัศนคติไม่ถูกต้องต่อสังคม

No Change No Opportunity


ผมได้อ่านหนังสือขายดี The Best Seller เรื่องไม่กล้าเปลี่ยน ก็ไม่มีโอกาส No Change No Opportunity เขียนโดย เจียง เสี่ยวเกอ แปลโดย สุธิมา โพธิ์เงิน ผมไปสะดุดความน่าสนใจในความพยายามของ ฮินตัล ที่มีประวัติชีวิตที่น่าสนใจในการเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง ชีวิตให้โอกาสแก่ทุกคน คนทุกคนต่างมีโอกาสดีๆ ในชีวิต โดยไม่ต้องยื้อแย่งเอามาจากใคร คอนราด ฮินตัน เจ้าของธุรกิจโรงแรมระดับโลก สมัยที่เขายังเป็นหนุ่นอยู่นั้น เขาโชคร้ายพี่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งสาหัสที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของอเมริกา ซ้ำร้ายฮิลตันยังเป็นลูกกำพร้า ช่วงเศรษฐกิจเขาจึงได้แต่พเนจร ร่อนเร่ไปทั่ว อาศัยขอทานเลี้ยงชีพ พอตกค่ำก็ทำได้แค่ซุกกายหลบฟ้าหลบฝน
            ครั้งหนึ่งฮิลตันระหกระเหินไปถึงกลางเมืองใหญ่และแอบอาศัยนอนที่ซอกประตูของโรงแรมเพื่อหลบความหนาวเหน็บอยู่หลายวัน จนวันหนึ่งฮิลตันหลับไปครึ่งคืนก็ถูกพนักงานโรงแรมช่วยกันจับยกขึ้น ก่อนจะโยนร่างของเขาลงบนกองหิมะห่างจากโรงแรมแห่งนั้นไกลออกไปหลายสิบเมตร ฮิลตันได้ถูกปลุกขึ้นท่ามกลางความหนาวเหน็บเอ่ยปากถามพนักงานโรงแรมด้วยความโมโห ผมนอนกลับของผม ไม่ได้เกะกะพวกคุณสักหน่อย ทำไมต้องโยนผมออกมาด้วย พนักงานกลุ่มนั้นก็ตอบกลับไปว่า พรุ่งนี้เช้าท่านประธานบริษัทเราจะแวะมาที่นี่ ผู้จัดการบอกว่าถ้าปล่อยให้คนจรจัดอย่างแกมานอนอยู่หน้าประตูแบบนี้ เห็นแล้วก็ขวางหูขวางตา แถมจะทำให้ท่านประธานไม่พอใจแล้วตำหนิเราได้ เลยต้องเชิญออกไปแบบนี้
            ฮิลตันตะโกนออกมาด้วยความโกรธแค้นว่า ประธานของพวกนายเป็นคนฉันก็เป็นคนเหมือนกันพนักงานโรงแรมตอบว่าพวกเราก็แค่รับคำสั่งมาเท่านั้น ฮิลตันกัดฟัน กำหมัดแน่น พวกนายฟังฉันไว้ให้ดี ต้องมีสักวันที่ฉันจะเปิดโรงแรมให้ใหญ่กว่านี้ วิเศษกว่านี้ จำคำพูดฉันไว้ เพราะความอัปยศท่ามกลางหิมะเหน็บหนาว ฮินตันจึงตังปณิธานยิ่งใหญ่กับตัวเอง หลังจากนั้นเขาทำงานหนักอย่างไม่หยุดหย่อน เก็บเงินที่มาหาได้ทุกบาททุกสตางค์ จนในที่สุกก็สร้างโรงแรมฮิลตันได้สำเร็จ ทั้งยังเป็นธุรกิจโรงแรมฮิลตัน หนึ่งในธุรกิจโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
          สิ่งที่เขียนถึงอาจารย์ในวันนี้ต้องการจะเสนอแนวคิดที่ว่า วุฒิการศึกษาอาจไม่ได้รับการยอมรับจากบุคคลโดยทั่วไป คนที่มีการศึกษามักจะหางานที่ดีได้มากกว่า แต่ทว่าเจ้าของธุรกิจมากมายในปัจจุบันก็ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาสูงใดๆ แต่ก็สามารถสร้างธุรกิจอันยิ่งใหญ่ได้ มากมาย ดังนั้นการที่เขามองเห็นโอกาสแล้วลงมือทำอย่างมุ่งมันก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกับคนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรอาจจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ได้ศึกษามีแรงบันดาลใจในการที่จะแสวงหาโอกาสให้กับตัวเองและมีพลังขับเคลื่อนให้ตัวเองให้ประสบความสำเร็จ และต้องไม่รู้จักท้อถอยเมื่อสิ่งต่างๆไม่เป็นไปตามความปารถนา ให้ใช้ความอดทนจนกว่าจะประสบความสำเร็จ เหมือนกับฮินตัลผู้เขียนประวัติชิวิตด้วยตัวเขาเอง

สาระการเรียนรู้ที่สถาบันครุศึกษาไม่ได้สอน



ผมได้ติดตามอ่าน มติชน สุดสัปดาห์ มาเป็นระยะเวลาหลายปีตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรี เหตุผลแรกๆที่ชอบอาจจะไม่ได้หมายถึงชอบทางการเมืองหรือชอบข่าววิเคราะห์รัฐบาลอะไรมากมายนักแต่ที่ติดตามอาจจะเป็นเพราะมีสาระทางวิชาการหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา และกวี ในมิติที่แตกต่างจากหนังสือแบบเดียวกันตามท้องตลาดทั่วไป
            ในโอกาสการรอคอยการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 นายกหญิงคนแรกของประเทศไทยและนายกรัฐมนตรีหญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก อายุ44 ปี มติชนฉบับประจำวันที่ 29 ก.ค.- 4 ส.ค. 2554 มีคอลัมน์เล็กๆชื่อวางบิลได้ลงบทความปาฐกถาของ ศาสตราจารย์ กิติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ เรื่อง ครุศึกษากับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย กล่าวโดยสรุปของปาฐกดังนี้คือสาระการเรียนรู้ที่สถาบันครุศึกษาไม่ได้สอนหรือนิสิตเรียนรู้ได้น้อย
1.การมองตนและสำรวจตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อรู้จักตน เข้าใจและเห็นคุณค่าของตน ตระหนักในความรับผิดชอบของตน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น
2. วิธีการคิดและปัจจัยที่มีผลต่อวิธีการคิดพิจารณาอย่างใครครวญ รู้จักตริ (วิตกะ) และรู้จักตรอง (วิจารณะ) รวมถึงความเข้าใจในหลัก บริบทและผลที่เกิดจากการคิด
3. การค้นหาลีลาการเรียนรู้ของตนเอง (Learning Style) เพื่อจะค้นพบและเกิดการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อชีวิต รู้จักแสวงหาแหล่งวิทยาการ ทั้งที่เป็นบุคคล ธรรมชาติแวดล้อม เทคโนโลยี สถานการณ์ และตัวอย่างต้นแบบของความสำเร็จ
4. การสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์เพื่อจะได้มีกัลยาณมิตร สามารถสร้างทีมงานเครือข่าย กลุ่มสนใจ ที่จะสามารถสร้างพลังการทำงาน และการพัฒนาตน
5. กิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ในระบบพี่เลี้ยง (mentor) การเป็นผู้ฝึกตน (coaching) การเป็นเพื่อนคู่คิด (peer) การเป็นกระบวนการ (facilitator) การเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้นิเทศ
6. ความเข้าใจในหลักชุมชนท้องถิ่นบริบทพื้นบ้านของไทย และวิธีการผสมผสานความเป็นท้องถิ่น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ดี จากการจัดการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนเป็นครูต้องได้ฝึกฝน สถาบันครุศึกษาจำเป็นต้องจัดบรรยากาศวางแผนบริหารจัดการ และพัฒนาคณาจารย์ให้สามารถเติมเต็มสาระการเรียนรู้ที่ขาดหายไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสิตนักศึกษาต้องได้รับการพัฒนาทั้งทางกายและจิตใจ เพื่อมีความพร้อมและมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอที่จะก้าวไปในเส้นทางวิชาชีพครู
ทั้งนี้สาระการเรียนรู้ที่สถาบันครุศึกษาไม่ได้สอนหรือนิสิตเรียนรู้ได้น้อย อาจจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นสำหรับผู้ที่จะออกแบบหลักสูตร หรือผู้ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ควรให้น้ำหนักของความสนใจในกระบวนการการเรียนรู้ เพื่อการสร้างหลักสูตรที่สามารถไปสร้างครูที่สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองในสายวิชาชีพได้ และต้องมีความรู้ในหลายมิติและผสมผสานและแก้ไขปัญหาอุปสรรคของชีวิตได้ ทั้งนี้การเริ่มต้นเป็นครูก็คือก้าวแรกที่จะต้องเรียนรู้ต่อไป